เก็บมาเล่า..สอยมาฝาก ตอนจิ้มก้อง

เก็บมาเล่า..สอยมาฝาก ตอนจิ้มก้อง

สมัยสุโขทัย
ได้ส่งคณะฑูตพร้อมของพื้นเมืองถวายเป็นกำนัลแก่จักรพรรดิราชวงศ์หยวนในจีน รวม 14 ครั้ง ระหว่างปีค.ศ.1292 - 1322 (30ปี)
ส่วนจีนสมัยราชวงศ์หยวนส่งฑูตมายังสุโขทัย 4 ครั้ง แต่มาถึงเพียง 3 ครั้ง

สมัยอยุธยา
หลังจากสมัยพระบรมราชาธิราชที่ 1 ส่งคณะฑูตไปเจริญสัมพันธไมตรีเพื่อค้าขายกับจีน ประมาณ 130 ครั้ง ในระยะเวลาเกือบ 400 ปี ระหว่างปีค.ศ.1371-1766
ส่วนจีนในสมัยราชวงศ์หมิงและชิงส่งฑูตมาอยุธยา ประมาณ 17 ครั้ง
ปล.นายพลเรือเจิ้งเหอ แวะกรุงศรีอยุธยาในปีค.ศ. 1408

สมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์สี่รัชกาลแรก
ไทยส่งฑูตไปจีนรวม 56 ครั้ง จนถึงปีค.ศ.1953

การค้าสำเภาระหว่างไทยกับจีน สร้างความมั่งคั่งให้กับกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นอย่างมาก ผลกำไรที่ได้ทำให้ไทยมีเงินทุนเพียงพอในการสร้างบ้านเมืองเพื่อทำสงครามต่อต้านการรุกรานของพม่าและเพื่อการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมและทำนุบำรุงพุทธศาสนา

"ระบบบรรณาการ"(Tribute) หรือจิ้นก้อง หรือจิ้มก้อง เป็นประเพณีสัมพันธไมตรีของจีนกับประเทศอื่นๆในสมัยโบราณ เพราะจีนมีความเชื่อมาช้านานตามอิทธิพลทางความคิดของลัทธิขงจื้อว่า "จีนเป็นอาณาจักรกลาง (จงกั้ว หรือ Middle kingdom) เป็นศูนย์กลางอำนาจและอารยธรรมของโลก เนื่องจากมีความเจริญมาช้านาา ดังนั้นจีนจึงมองประเทศอื่นที่อยู่โดยรอบว่าด้อยกว่า และจะต้องยอมสวามิภักดิ์กับจีน โดยการส่งเครื่องบรรณาการแก่จักรพรรดิจีนตามกำหนด ส่วนจีนซึ่งเป็นประเทศที่ใหญ่กว่าและเจริญกว่าจะให้ความช่วยเหลือคุ้มครองประเทศเล็กๆเหล่านี้ อีกทั้งยังให้ประโยชน์ ทั้งทางการเมือง โดยยอมรับฐานะของกษัตริย์ และทางเศรษฐกิจ โดยอนุญาตให้ค้าขายได้อย่างเสรี"

อย่างไรก็ดี ผู้นำของไทยมิได้ยอมรับตามคติของจีน ไทยมิได้หวาดกลัวว่าจีนจะคุกคาม เนื่องจากจีนอยู่ห่างไกลและไม่เคยคุกคามความมั่นคงของไทยเลย ไทยส่งคณะฑูตพร้อมด้วยพระราชสาส์นและของกำนัลหรือเครื่องบรรณาการก็เพื่อขอความสะดวกในการค้าขาย พระราชสาส์นของกษัตริย์ก็เป็นการแสดงสันถวไมตรี มิได้อ่อนน้อมยอมเป็นเมืองขึ้น ส่วนเครื่องบรรณาการที่ส่งไปด้วยก็เพื่อแสดงไมตรีจิตร และเพื่อเป็นไปตามความต้องการของจีนตามประเพณีจีน

"ระบบบรรณาการเพื่อการค้า" ได้ลดความสำคัญและประโยชน์ลง ในปลายรัชกาลที่4 ไทยทำการค้ากับตะวันตกมากขึ้นหลังจากสนธิสัญญาเบาว์ริงกับอังกฤษในปีค.ศ.1855 ในขณะที่กำไรจากการค้าสำเภาจีนลดลงตามลำดับ ทั้งนี้เพราะความไม่ปลอดภัยในการเดินทาง เนื่องจากจักรพรรดิราชวงศ์ชิงระยะหลังอ่อนแอ อีกทั้งเผชิญกับปัญหาการต่อต้านจากภายในและการท้าทายคุกคามจากภายนอก

ปีค.ศ. 1853 เป็นปีสุดท้ายของการส่งบรรณาการเพื่อการค้า นับเป็นการสิ้นสุดความสัมพันธุ์ระหว่างไทยกับจีนในสมัยโบราณภายใต้ระบบ"บรรณาการเพื่อการค้า"  สาเหตุที่ยุติเพราะรัชกาลที่4 ไม่ประสงค์จะทำให้เกิดความเข้าใจผิดในหมู่ประเทศที่ติดต่อกับไทย อีกทั้งประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ไทยได้รับก็ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน เนื่องจากความไม่ปลอดภัยจากการเดินทาง


ขอบคุณ
หนังสือ "35ปี ความสัมพันธ์ทางการฑูต ไทย-จีน"
เขียนโดย จุลชีพ ขินวรรโณ
สำนักพิมพ์ OPENBOOKS
พิมพ์ครั้งที่ 1 กันยายน 2553


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น