บันทึกฐานยุตโต: ว่าด้วยศีสหรือวินัยของสงฆ์ ตอนที่ ๑

วันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๕๒
เจริญพร
ช่วงนี้อากาศดีฝนตกตอนเย็นทุกวันเลยแต่อาตมายังโชคดีเพราะจนถึง ณ ขณะนี้ที่ยังไม่ป่วย ไม่เป็นไข้ ธาตุทั้งสี่ในร่างกายยังมีความสมดุลดีอยุ่

จากบันทึกฉบับก่อนหน้านี้รุ้สึกว่าจะแต่เรื่องชีวิตของอาตมาเป็นส่วนใหญ่ อาตมาคิดว่าฉบับนี้จะขยับมาเขียนเรื่องพระวินัยของพระกันสักหน่อยเพื่อโยมจะได้มีความรุ้พอสังเขปและสามารถถ่ายทอดต่อไปได้ สมดั่งที่เป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี

โดยส่วนมากเมื่อเสร็จพิธีบวชและออกจากใจโบสถ์แล้วก็เป็นการฉลองพระใหม่ หลังจากนั้นก็แยกย้ายกันกลับบ้าน วันนี้เรามาดูสิว่ามีอะไรบ้างที่นอกเหนือจากสิ่งที่เรารู้

สิ่งหนึ่งที่พระใหม่หรือนวกะจะต้องรู้ทันทีหลังจากการอุปสมบทเสร็จเรียกว่า อนุศาสน์ ๘ ซึงเป็นคำสอนที่พระอุปัชฌาย์พึงบอกแก่ภิกษุ เพื่อให้ภิกษุทราบว่าอะไรคือข้อที่ควรปฏิบัติและข้อห้าม ซึ่งประกอบด้วย
๑.นิสสัย ๔( ควรปฏิบัติ)
- เที่ยวบิณฑบาต , นุ่งห่มผ้าบังสุกุล , อยู่โคนไม้ และ ฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า

๒.อกรณียกิจ ๔ ( ไม่ควรประพฤติ )
- เสพกามเมถุน , ลักของเขา , ฆ่ามนุษย์ และ พูดอวดคุณวิเศษที่ตนเองไม่มี

หลังจากนั้นแล้วก็ต้องมีการอธิษฐานและพินทุจีวร สบง และสังฆาฏิ สำหรับการทำพินทุนั้นมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลแล้วเพื่อที่จะทำให้ผ้ามีตำหนิและเป็นการทำเครื่องหมายเพื่อบอกว่าใครเป็นเจ้าของไตรจีวร โดยการทำพินทุนั้นจะทำที่มุมล่างด้านในของผ้าแต่ละผืนโดยทำเป็นวงกลมเล๊กๆสามวงพร้อมเขียนชื่อเต็มหรือชื่อย่อกำกับ รวมทั้งเครื่องหมายบวกและลบ

จีวรที่พระบวชจำพรรษาจะมีสองชุดคือชุดที่ห่มทำพิธีอุปสมบทในโบสถ์เรียกว่าชุดครองต้องทำเครื่องหมายบวกข้างเครื่องหมายพินทุและจะต้องใช้ชุดครองทุกครั้งถ้าเป็นไปได้เมื่อลงโบสถ์หรือทำสังฆกรรมของพระ

สำหรับอีกหนึ่งชุดเรียกว่าชุดอาศัย ใช้สำหรับออกเที่ยวบิณฑบาต หรือเดินทาง หรือลงศาลา ในกิจการใดๆที่ไม่เกี่ยวกับกับลงโบสถ์หรือสังฆกรรมของพระ

สำหรับจีวรในสมัยพุทธกาลเป็นสิ่งที่หายากต้องเก็บเอามาจากเศษผ้าที่เขาไม่ใช้แล้วและจึงนำมาเย็บเป็นจีวร โดยลักษณะของจีวรที่พระห่มอยู่ทุกวันนี้ก็เป็นแบบเดียวกับสมัยพุทธกาล ผู้ออกแบบคือพระสารีบุตรอัครสาวกด้านขวาของพระพุทธเจ้า ลักษณะของจีวรพระสารีบุตรท่านเอาแบบมาจากแปลงนานั้นเอง นอกจากนี้จีวรที่ใช้กันในสมัยพุทธกาลเมื่อไม่สามารถใช้ห่มได้แล้วก็นำมาใช้เป็นผ้าขี้ริ้วหรือเอาไปผสมกับดินเหนียว ขี้วัว ขี้ควาย สร้างเป็นบ้านต่อไป คือใช้สอยกันอย่างคุ้มค่าเลยทีเดียว อาตมาก็ว่าจะทำอย่างนั้นเช่นกัน

สำหรับเรื่องพระวินัยของสงฆ์ที่มีมาในพระปาติโมกข์ ๒๒๗ ข้อนั้น สามารถแบ่งออกได้ดังนี้
๑. ปาราชิก ๔ สิกขาบท
๒. สังฆาทิเสส ๑๓ สิกขาบท
๓. อนิยต ๒ สิกขาบท
๔. นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ สิกขาบท
๕. ปาจิตตีย์ ๙๒ สิกขาบท
๖. ปาฏิเทสนียะ ๔ สิกขาบท
๗. เสขิยวัตร ๗๕ สิกขาบท
๘. อธิกรณสมถะ ๗ อย่าง
รวมทั้งหมด ๒๒๗ สิกขาบท

ฉบับนี้อาตมาคิดว่าคงเขียนไม่พอแล้วละโยม เอาเป็นว่าคงต้องเขียนต่อในฉบับหน้าน่าจะดีกว่า ยังไงขอให้โยมติดตามตอนต่อไปนะ อาตมารับรองเลยว่าโยมจะได้รับความรู้และสามารถถ่ายทอดต่อไปให้แก่บุคคลทั่วไป ยังความเจริญสืบเนื่องต่อไปของพระพุทธศาสนาในประเทศไทย

สาธุ
๑๒ กันยายน ๒๕๕๒ ห้องนวกะเบอร์ ๔ วัดสุวรรณประสิทธ์