บันทึกฐานยุตโต: ปวารณาออกพรรษา

๔ ตุลาคม ๒๕๕๒
บันทึกฐานยุตโต: ปวารณาออกพรรษา
เจริญพร
เวลาสามเดือนช่างผ่านไปอย่างรวดเร็วเกินวันนี้เป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๐ วันออกพรรษา ไม่มีการสวดปาติโมกข์ แต่เมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมาหลังจากฉันเพลบนศาลาเสร็จอาตมาพอมีเวลาซักสะบง จีวรเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเดินทางวันรุ่งขึ้นช่วงบ่าย สักประมาณบ่ายสองก็มีเสียงตามสายนิมนต์พระนวกะชั้นสี่ลงไปขนโต๊ะและเกาอี้เพื่อจัดเตรียมสถานที่สำหรับตักบาตรเทโวรอบโบสถ์วันพรุ่งนี้เวลา ๐๗.๔๙ น. หลังจากนั้นประมาณสิบโมงเช้าเป็นพิธีรับกฐินและฉันเพลตามลำดับ ช่วงบ่ายโมงกว่าออกเดินทางด้วยแท๊กซี่ไปหมอชิตเพื่อนั่งรถทัวร์ปลายทางที่สำนักสงฆ์น้ำตกคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร พรุ่งนี้จะมีพระทั้งสิ้นหกรูปเดินทางไปด้วยกัน วันรุ่งขึ้นจะมีพระเดินทางไปสมทบอีกสองรูป กิจสงฆ์นี้เรียกว่าการอยู่กรรมหรือปริวาสกรรมใช้ระยะเวลาทั้งสิ้น ๑๐ วัน โดยเริ่มหลังจากออกพรรษาสามวัน กิจนี้จะเป็นกิจสุดท้ายก่อนที่อาตมาจะลาสิกขาที่โน้น

วันพรุ่งนี้โยมแม่และโยมน้องจะมาถวายเพลที่วัดบนศาลา หลังจากนั้นอาตมาจะขนของที่กุฏิบางส่วนที่จำเป็นฝากโยมน้องกลับบ้าน เหลือบางส่วนค่อยกลับมาจัดการและทำความสะอาดหลังจากสึกแล้ว อยู่ที่นี้อาตมาก็ถูพื้นหน้าระเบียงชั้นสี่ หน้าห้องน้ำ และบริเวณที่ซักผ้าทุกวัน ช่วงสามวันสุดท้ายก่อนออกพรรษาอาตมาก็ได้ทยอยล้างห้องน้ำทั้งแปดห้องจนครบเรียบร้อย

สามวันก่อนหน้านี้ฝนตกทั้งคืนจนถึงรุ่งเช้า อาตมาขึ้นมาสรงน้ำตอนตีห้านิดๆเพื่อเตรียมที่จะออกเที่ยวบิณฑบาตถ้าฝนตกเบาลงจะได้ไปบิณฑบาตได้ สักประมาณเกือบหกโมงฝนเริ่มเบาอาตมาก็ห่มจีวรเดินกางร่มลุยฝนไปหาพระอาจารย์ตามจุดนัดหมายเช่นทุกวัน แต่พอไปถึงคาดว่าพระอาจารย์คงจะล่วงหน้าไปเรียบร้อยแล้ว อาตมาก็ออกมายืนกางร่มนอกวัดนึกในใจไปหรือไม่ไป สุดท้ายก็ตัดสินใจที่จะเดินออกไปถนนใหญ่ถ้าเห็นพระอาจารย์ก็จะเดินกวดตามให้ทัน พอออกไปเกือบจะถึงถนนใหญ่ก็เจอพระอาจารย์เดินกลับมาเปียกโชกไปทั้งตัวเพราะท่านไม่ได้ถือร่ม ผมก็กำลังจะเก็บร่มพระอาจารย์ท่านก็ห้ามเพราะว่าท่านเปียกแล้ว อาตมาเดินตามหลังพระอาจารย์กลับวัดชั่วระยะเวลาอันสั้นอาตมาก็เก็บร่มใส่ย่ามเดินตากฝนเหมือนพระอาจารย์ เดินต่อไปอีกนิดเดียวก็มีโยมมาจอดรถฝั่งตรงกันข้ามเพื่อตักบาตร อาตมาก็ได้อาหารเช้ามาสองถุงในวันนั้น พอกลับมาถึงวัดก็แยกย้ายกับกลับกุฏิอาตมาก็ซักจีวรที่เปียกทันทีพร้อมทั้งถูพื้นหน้าระเบียงชั้นสี่ฝั่งที่อาตมาอยู่ อาหารที่ได้จากโยมก็ยังไม่ฉันรอจนกระทั่งเกือบสิบโมงก็ลงมือฉันเพลหลังจากนั้นประมาณสิบเอ็ดโมงห่มจีวรเพื่อลงไปขึ้นรถไปสอบนักธรรมตรีวิชาวินัยที่วัดลาดพร้าวซึ่งเป็นการสอบวันสุดท้าย

การสอบนักธรรมตรีที่วัดลาดพร้าวเป็นการสอบสนามสุดท้ายเรียกว่าธรรมสนามหลวงสอบพร้อมกันทั่วประเทศ โดยสอบวันละวิชาเริ่มทำการสอบเวลา ๑๓.๐๐ น. เริ่มจากวันแรกวิชาแก้กระทู้พุทธสุภาษิต วิชาธรรมมะ วิชาพุทธประวัติและวินัยสงฆ์ตามลำดับ สำหรับการสอบเป็นข้อเขียนทุกวิชา ก่อนหน้านี้มีการสอบพระนวกะที่วัดนวลจันทร์วันละสองวิชาสองวันคือสอบเช้าและสอบบ่าย วัดสุดท้ายประกาศผลสอบและรับใประกาศนียบัตร
สอบทั้งหมดสี่วิชาๆละ ๑๐๐ คะแนน ต้องได้ ๒๘๐ คะแนนขึ้นไปจึงจะถือว่าผ่าน รวมสี่วิชาอาตมาได้ ๒๙๐ คะแนนเรียกว่าผ่านแบบฉิวเฉียด แต่ผลของการสอบครั้งนี้อาตมาทำคะแนนได้ดีกว่าการทดสอบครั้งแรกที่วัดจัดสอบขึ้นมาเองคือได้ ๒๗๓ คะแนน สองสนามแรกอาตมาไม่ซีเรียสเท่าไหร่ถือว่าเป็นการซ้อมและทบทวนความเข้าใจและความจำไปในตัว อาตมาให้ความสำคัญกับการสอบครั้งสุดท้ายคือธรรมสนามหลวง วัดจากการทำข้อสอบถือว่าเป็นที่น่าพอในอาตมาประเมินตัวเองคะแนนที่ได้ไม่น่าจะต่ำกว่า ๒๘๐ คะแนนอย่างแน่นอนแต่ผลสอบจะประกาศอีกทีก็ประมาณเดือนธันวาคมสามารถตรวจผู้ที่ผ่านนักธรรมตรีได้ทางอินเตอร์เน็ท

ช่วงต้นเดือนอาตมาได้เดินทางไปโรงพยาบาลสงฆ์เนื่องจากนิ้วโป้งและนิ้วชี้มือขวาชามานานแล้วตั้งแต่บวช ได้ยามาชุดใหญ่อีกทั้งก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจและค่ายาแม้แต่บาทเดียว นี้เป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ที่ได้รับจากการบวชครั้งนี้ ประทับใจในบริการและความเสียสละของเจ้าหน้าที่พร้อมทั้งพยาบาลและคุณหมอทุกท่าน อาการตอนนี้ก็ยังไม่หายแต่รุ้สึกว่าดีขึ้น คุณหมอนัดตรวจดูอาการอีกครั้งกลางเดือนตุลาคมและบอกว่าถ้ายังไม่หายอาจจะต้องผ่าตัด.....!!!!!! แต่เสียใจอยู่อย่างเดียวคุณหมอเรียกอาตมาว่าหลวงพ่อ!

พรุ่งนี้อาตมาต้องออกเดินทางช่วงบ่ายคาดว่าจะไปถึงสำนักสงฆ์คลองลานประมาณหัวค่ำ ช่วงอยู่ปริวาสกรรมสิบวันงดการติดต่อสื่อสารทั้งปวง อาตมาคิดว่านี้คงเป็นฉบับสุดท้ายที่จะได้คุยและแบ่งปันประสบการณ์ในฐานะที่ยังเป็นพระอยู่ ฉบับหน้าคงจะต้องหลังกลางเดือนตุลาคมไปแล้วหมายถึงลาสิกขาบทแล้วนั้นเอง ถึงตอนนั้นอาตมาจะมาเล่าประสบการณ์ปริวาสให้ฟังว่าเป็นอย่างไรบ้าง

ขอความสุข ความเจริญในอายุ วรรณะ สุขะ พละ จงมีแก่ญาติโยมทุกคน สาธุ!

พระปฏิรพ ฐานยุตโต
พระนวกะ ห้องเบอร์สี่ ตึกวิปัสสนา วัดสุวรรณประสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร
๒๒.๑๒ น.

บันทึกฐานยุตโต : ว่าด้วยเรื่องศีลหรือวินัยของสงฆ์ตอนจบ

วันที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๒
เจริญพร
ฉบับที่แล้วอาตมาได้เกริ่นเอาไว้นิดหน่อยเกี่ยวกับพระวินัย ๒๒๗ ข้อประกอบด้วยอะไรบ้าง มาถึงฉบับนี้ก็จะมาลงรายละเอียดกันสักหน่อยพอที่โยมจะเข้าใจได้ไม่ยากแต่คงไม่ละเอียดมากหรอกนะเดี๋ยวจะงงมากกว่าจะเข้าใจ
พระวินัยเป็นระเบียบแบบแผนที่พระพุทธเจ้าได้ตั้งขึ้นมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล เพื่อบริหารหมู่สาวกให้ประพฤติดีงามและมีความประพฤติลงรอยเดียวกัน บทพระบัญญัติในพระวินัยนั้นไม่ได้ทรงวางเอาไว้ล่วงหน้าคือเมื่อมีเหตุเกิดขึ้นมาก่อนจึงได้ทรงตั้งพระบัญญัติขึ้นมาเรียกว่าต้นพระบัญญัติ ต่อมาเมื่อพระบัญญัติที่ตั้งไว้ไม่เป็นไปโดยสะดวก ก็ไม่ทรงถอนแต่ทรงดัดแปลงตั้งเพิ่มเติมภายหลัง เรียกว่า “อนุบัญญัติ”
เพราะฉะนั้นเมื่อพระภิกษุรูปใดทำผิดกฏหรือล่วงละเมิดข้อพระบัญญัติเราเรียกว่า “ อาบัติ” โดยอาบัติมีโทษด้วยกัน ๓ สถานคือ
๑. อย่างหนัก ต้องให้ขาดจากความเป็นภิกษุ ( ปาราชิก ๔ )
๒. อย่างกลาง ต้องให้อยู่กรรมหรือที่เรียกว่าปริสวาสกรรม ( สังฆาทิเสส ๑๓ )
๓. อย่างเบา ต้องให้ประจานตนต่อหน้าภิกษุด้วยกัน ( ที่เหลือทั้งหมดของพระบัญญัติ )
ต่อไปอาตมาก็จะขอกล่าวพอสังเขปไปที่ละหัวข้อนะโยมโดยขอเริ่มต้นก่อนที่ปาราชิก ๔ หมายถึง อาบัติหนักที่ภิกษุเมื่อละเมิดต้องขาดจากความเป็นภิกษุไปทันทีหรือง่ายๆคือต้องสึกทันที เป็นอาบัติที่ไม่สามารถแก้ไขได้ประกอบด้วยเสพเมถุนในมนุษย์หรือสัตว์เดรัจฉาน , ลักขโมยสิ่งของที่มีมุลค่า ๑ บาทขึ้นไป , เจตนาฆ่ามนุษย์ให้ตาย และอวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตัวตน
สังฆาทิเสส ๑๓ เป็นอาบัติอย่างกลาง ที่ภิกษุสามารถปลงอาบัติได้ด้วยการอยู่กรรม ๖ ราตรี ประกอบด้วยมีเจตนาทำให้น้ำอสุจิเคลื่อน , มีเจตนาจับต้องกายหญิงด้วยความกำหนัด , มีความกำหนัดอยู่ พุดเกี้ยวหญิงพาดพิงถึงเมถุน,มีความกำหนัดพูดล่อหญิงให้บำเรอกาม, ชักสื่อให้ชายหญิงเป็นผัวเมีย, มีความพากเพียรเพื่อจะทำลายสงฆ์ให้แตกแยก , ภิกษุว่ายากสอนยาก ภิกษุอื่นห้ามไม่ฟัง , ภิกษุประจบคฤหัสถ์ ยอมให้เขาใช้สอย เป็นต้น
อนิยต ๒ คำว่า “ อนิยต” แปลว่าไม่แน่นอน เป็นชื่ออาบัติที่ตั้งไว้ลอยๆ ระหว่าง อาบัติปาราชิก สังฆาทิเสส และปาจิตตีย์ อย่างใดอย่างหนึ่ง มีสองข้อคือ
- ภิกษุนั่งในที่ลับตากับหญิงสองต่อสอง สามารถอาบัติเป็นปาราชิก หรือ สังฆาทิเสาส หรือ ปาจิตตีย์
- ภิกษุนั่งในที่ลับหูกับหญิงสองต่อสอง สามารถปรับอาบัติเป็นสังฆาทิเสส หรือ ปาจิตตีย์
นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ แปลว่า ต้องอาบัติปาจิตตีย์ด้วยสิ่งของอันจะต้องสละเสีย หมายถึงสิ่งของนั้นเป็นของที่ต้องสละประกอบด้วย ผ้าไตรจีวร อาสนะ บาตรและผ้าอาบน้ำฝน มีทั้งหมด ๓๐ ข้อ
ปาจิตตีย์ ๙๒ หมายถึง การละเมิดที่ทำให้กุศลตกไปหรือทำความดีให้เสียไป มีทั้งหมด ๙๒ ข้อ
เสขิยวัตร ๗๕ หมายถึง วัตรปฏิบัติที่ภิกษุพึงศึกษาหรือฝึกฝนปฏิบัติตาม เพื่อความเป็นผู้มีอาจาระอันงาม เป็นที่น่าเลื่อมใสแก่ผู้พบเห็น ได้แก่หมวดวัตรปฏิบัติเกี่ยวกับความประพฤติในเวลาเข้าบ้าน หมวดเกี่ยวกับการรับบิณฑบาตและฉันอาหาร หมวดเกี่ยวกับการแสดงธรรม และหมวดวัตรปฏิบัติเล็กๆน้อยๆที่เหลือ ทั้งหมด ๗๕ ข้อ
ลำดับสุดท้ายคืออธิกรณ์สมถะ หมายถึงธรรมเป็นเครื่องระงับอธิกรณ์ หรือ วิธีการดำเนินการเพื่อระงับอธิกรณ์ที่เกิดขึ้นให้สำเร็จลงอย่างเรียบร้อยด้วยดีมี ๗ อย่าง อนึ่งอธิกรณ์หมายถึงคดีของสงฆ์ด้วยกันเอง
จากทั้งหมด ๒๒๗ ข้อ หัวข้อสังฆาทิเสสทั้ง ๑๓ ข้อ เป็นสิ่งที่พึงระวังมากที่สุดเพราะเป็นสิ่งที่พระนวกะมีโอกาสมากที่จะละเมิดพระบัญญัติหรืออาบัติ รองลงมือคือปาราชิก ๔
ถึงตรงนี้อาตมาขอเพิ่มเติมอีกนิดเกี่ยวกับอันตรายของภิกษุสามเณรผุ้บวชใหม่ ๔ ข้อคือ อดทนต่อคำสั่งสอนไม่ได้ เบื่อต่อคำตักเตือน , เห็นแก่ปากแก่ท้อง อดทนต่อความอยากไม่ได้ , เพลิดเพลินในกามคุณ และรักผู้หญิง
ฉบับหน้าอาตมาจะเขียนเรื่องอะไรค่อยมาติดตามอ่านกันต่อไปนะโยม สำหรับผู้ที่ต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับศีล ๒๒๗ อาตมายินดีที่จะตอบ
สาธุ
๒๐.๕๗ นวกะห้องเบอร์สี่ วัดสุวรรณประสิทธิ์