เรื่องเล่าจากตำรา ตอนเวียงกุมกาม เวียงอะไรนะ!

ผมเชื่อว่าหลายคนเคยได้ยินชื่อเวียงกุมกามกันมาบ้างแล้ว บางคนก็คงมีโอกาสไปเยี่ยมชมโบราณสถานแห่งนี้แล้ว บางคนกำลังวางแผนที่จะไป บางคนอาจจะได้ยินเป็นครั้งแรก บางคนเคยได้ยินแต่ไม่รู้ว่าเวียงกุมกามคืออะไร

เรามาค้นหาคำตอบกันดีกว่าว่า"เวียงกุมกามคืออะไร"

"....มีชื่อเรียกว่า เวียงกุมกาม โดยโปรดให้ขุดคูเวียงทั้งสี่ด้าน ไขน้ำปิงให้ขังไว้ในคูเวียงและตั้งลำเวียกรอบทุกเบื้อง ในพงศาวดารภาคที่ 61 กล่าวว่า ถึงพุทธศักราช 1829 ปีระวายเสด พญามังรายเจ้าก็ยกเอาหมู่รี้พลไปตั้งบ้านเชียงกุ่มกวม แม่น้ำระมิง ตั้งบ้านอยู่ 3 แห่ง แห่งทีหนึ่งชื่อว่าบ้านกลาง แห่งที่สองชื่อว่าบ้านลุ่ม แห่งทีสามชื่อว่าบ้านแห้มแล ถึงยามกลางพรรษาน้ำท่วมฉิบหายมากนัก..."

เวียงกุมกามคืออะไร?
เวียงกุมกาม หรือ นครเกาะกุมกาม คือเมืองเก่าเมืองหนึ่งที่สร้างขึ้นโดยพระเจ้ามังราย ปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจัการล้านนาและได้ทรงประทับอยู่ที่นี้ถึง 10 ปี หลังจากนั้นจึงได้สร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้นมาในชือว่า"นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่"

เวียงกุมกามสร้างขึ้นมาเมื่อไหร่?
เวียงกุมกามสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๑๘๒๙ / ค.ศ.1286 ส่วนเชียงใหม่สร้างในปี พ.ศ.๑๘๓๙ /ค.ศ.1296 โว๊ะ! นั้นแสดงว่าเวียงกุมกามเก่ากว่าเชียงใหม่อีกเนอะ

ปัจจุบันเวียงกุมกามตั้งอยู่ที่ไหน?
ปัจจุบันร่องรอยของเวียงกุมกามปรากฏอยู่ในเขตพื้นที่ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีระยะห่างจากเมืองเชียงใหม่ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 5 กิโลเมตรเศษ


แผนที่แสดงการเปลี่ยนร่องน้ำของแม่น้ำปิง โดยอ.สรัสวดี อ๋องสกุล


เมืองโบราณเวียงกุมกามมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร
เวียงกุมกามมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีความยาวประมาณ 850 เมตร ไปตามแนวทิศตะวันออกเฉียงใต้สู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และกว้างประมาณ 600 เมตร ตัวเมืองยาวไปตาม"ลำน้ำปิงสายเดิม"ที่เคยไหลไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

เฮ้ย!ที่บอกว่า"ลำน้ำปิงสายเดิม" แปลว่าอะไร? แล้ว"ล้ำน้ำปิงสายใหม่"คืออะไร?
ในสมัยโบราณเวียงกุมกามจะตั้งอยู่บนฝั่ง"ทิศตะวันตก หรือ ฝั่งเดียวกับเมืองเชียงใหม่" แต่เนื่องจากกระแสของแม่น้ำปิงเปลี่ยนทิศทาง จึงทำให้เวียงกุมกามเปลี่ยนมาตั้งอยู่ทางฝั่งด้าน"ตะวันออกที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน"

แถมให้อีกนิดจะได้ไม่สงสัยว่าทำไมเวียงกุมกามจึงกลายเป็นเมืองร้าง?
ช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงกระแสน้ำคาดว่าน่าจะอยู่ประมาณ"พุทธศตวรรษที่ 23" ซึ่งขณะนั้นบ้านเมืองกำลังอยู่ในช่วงระส่ำระสายเกิดความวุ่นวาย เนื่องจากพม่าเข้ายึดครองและเกิดการสู้รบชิงอำนาจกัน

การเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำครั้งนั้น ได้ทำให้เกิดน้ำท่วมเวียงกุมกามครั้งใหญ่จนเวียงกุมกาม"ล่มสลาย" และวัดวาอารามจมอยู่ใต้ดินทราย จนเป็นเมืองร้างไปในที่สุด

จากการขุดค้นทางโบราณคดีพบว่า วัดบางวัดในบริเวณเวียงกุมกามที่เคยอยู่ใกล้กับลำน้ำปิงสายเดิมและถูกน้ำท่วมถูกดินทรายทับถมลึกถึง 1.5 - 2 เมตร

แผนที่แสดงที่ตั้งโบราณสถานและการหันทิศของโบราณสถานในเวียงกุมกาม

แล้วเวียงกุมกาม เมืองที่ร้างเพราะน้ำท่วม ค้นพบเมื่อไหร่?
จุดเริ่มต้นของการขุดค้นศึกษาทางโบราณคดีในเวียงกุมกาม เกิดจากชาวบ้านได้ขุดพบ"พระพิมพ์ดินเผา"เป็นจำนวนมาก ในบริเวณ"สนามหญ้าหน้าโรงเรียนวัดช้างค้ำเก่า" ในช่วงต้นปีพ.ศ.2527 /ค.ศ.1984

หลังจากนั้นกรมศิลปากรได้เข้าไปดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีระหว่างปีพ.ศ.2528 - 2532 ซึงจากการสำรวจพบว่ามีโบราณสถานกระจายอยู่ทั้งในเขตเวียงกุมกามและใกล้เคียงรวมจำนวน 25 แห่ง แบ่งเป็น
1.โบราณสถานร้าง 21 แห่ง
2.มีวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ในเขตเวียงกุมกามและใกล้เคียงเพียง 4 วัดคือ วัดช้างค้ำ วัดเสาหิน วัดศรีบุญเรือง และวัดเจดีย์เหลี่ยม เป็นต้น

แล้ววัดหรือซากโบราณสถานในเวียงกุมกามมีหน้าตาเป็นแบบไหน พอจะสันนิษฐานได้ไหม?
จากการขุดค้นทางโบราณคดีและบูรณะแล้วจำนวน 11 แห่ง จะขอพูดถึงสองเรื่องคร่าวๆคือลักษณะเจดีย์และลักษณะของวิหาร

เจดียในเวียงกุมกาม(ที่ขุดค้นแล้ว) จำนวน 18 องค์ สามารถแบ่งตามลักษณะได้ดังนี้คิอ
1.เจดีย์เหลี่ยมหรือเจดีย์สีเหลี่ยม  จำนวน 1 องค์
2.เจดีย์ทรงกลมแบบพื้นเมืองเชียงแสนหรือล้านนา จำนวน 1 องค์
3.เจดีย์ทรงปราสาทหรือแบบสี่เหลี่ยมผสมทรงกลม จำนวน 1 องค์
4.เจดีย์ทรงกลมแบบเชียงใหม่ จำนวน 1 องค์
5.เจดีย์แปลเหลี่ยม จำนวน 3 องค์
6.เจดีย์แบบช้างล้อม จำนวน 2 องค์
7.ซากเจดีย์ไม่ทราบรูปร่าง จำนวน 9 องค์

สำหรับลักษณะรูปทรงวิหารของเวียงกุมกามเกือบส่วนมากจะเป็นแบบที่เรียกว่า"ขื่อม้าต่างไหม"และ"เป็นวิหารโถงหรือวิหารเปิด" รวมถึงการย่อมุมและการลดชั้นของหลังคาวิหาร เขียนอย่างนี้อาจจะงงและนึกภาพไม่ออก ใครเคยไปวัดพระธาตุลำปางหลวงบ้าง? ถ้าเคยไปคงนึกภาพวิหารหลวงด้านหน้าออก แบบนั้นละครับที่เรียกว่า"วิหารโถงหรือวิหารเปิด"

วิหารหลวง วัดพระธาตุลำปางหลวง เป็นตัวอย่างของสิ่งที่เอ่ยมาทั้งหมด ทั้งลักษณะของหลังคา การย่อมมุมส่วนของพื้น วิหารเปิดโล่งหรือวิหารโถง ยกเว้นเพดานเพราะทางวัดบูรณะและเปลี่ยนจากเพดานที่เปิดโล่งสามารถเห็นโครงสร้างของหลังคา"ขื่อม้าต่างไหม"เป็นปิดมิดชิด ไม่เห็นอะไรทั้งสิ้น หมดคุณค่ากันพอดี เวงกำ!

แต่ถ้าใครอยากจะเห็นว่าหน้าตาเป็นอย่างไรก็ยังพอมีให้ชม สามารถไปชมที่ได้ที่วิหารวัดพันเตา วิหารวัดต้นแกว๋น วิหารวัดปราสาทและวิหารวัดพระธาตุเสด็จ เป็นต้น

นี้ละครับภาพคร่าวๆ ของเมืองโบราณที่เรียกว่า"เวียงกุมกาม" ขอให้การไปเที่ยวเวียงกุมกามครั้งต่อไปมีความสุขและมีความเข้าใจในโบราณสถานมากขึ้นนะครับ

.....ยินดีที่ได้รับใช้และแบ่งปันความรู้ดีๆให้ทุกคนได้อ่าน....


ขอบคุณภาพและข้อมูลๆดีจาก"หนังสือแผ่นดินล้านนา" อาจารย์สุรพล ดำริห์กุล คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำนักพิมพ์เมืองโบราณ

เวลา 23.30 น.
วันอังคารที่ 3 กันยายน พ.ศ.2556
ผมเอง...PattyFromTheBlock

เรื่องเล่าจากตำรา ตอนตามรอยพระเจ้ามังราย 35 ปีก่อนสร้างเชียงใหม่

อ่านหนังสือแล้วรู้สึกติดใจช่วงเวลาก่อนสร้างเมืองเชียงใหม่ ตั้งแต่การเดินทางจากเชียงแสน สร้างเมืองเชียงราย ตีหริภุญไชย ครอบครองลำปาง ย้ายฐานมาเวียงกุมกามและสุดท้ายพระองค์ทรงตัดสินใจสร้างเมืองเชียงใหม่ ชอบเฉพาะส่วนนี้แหละ ก็เลยตัดสินสินใจยกเอาเรื่องราวตอนนี้มาแบ่งปันให้สหมิตรได้อ่านกันแบบเพลินๆสบายๆ


พระเจ้ามังรายเป็นใคร?
พระองค์ทรงสืบเชื้อสายมาจากกษัตริย์ในราชวงศ์"ลวจักราช แห่งเมืองหิรัญนครเงินยาง เชียงแสน แคว้นโยนก"

พระองค์เป็นโอรสของเจ้าลาวเมงกับนางเทพคำขยาย ราชธิดาของเจ้าเมืองเชียงรุ้ง

พระเจ้ามังรายขึ้นครองราชย์เมือไหร่?
พระองค์ขึ้นเสวยราชย์ที่เมืองหิรัญนครเงินยาง เชียงแสน ในปีพ.ศ.๑๘๐๔ / ค.ศ.1261

สาเหตุที่พระเจ้ามังรายออกรบและเข้าสู่สงคราม?
หลังจากพระองค์ขึ้นครองราชย์ ทรงพิจารณาเห็นว่าตัวเองเป็นเชื้อสายโดยตรงที่สืบมาจากปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ลวจักราช แต่เจ้าเมืองที่อยู่โดยรอบไม่ถวายพระเกียรติและไม่สมัครสมายสามัคคี วิวาทแย่งชิงไพร่ชิงแดนกันอยู่เสมอ ทำให้เกิดความทุกข์ยากแก่อาณาประชาราษฎร์ยิ่งนัก จึงมีดำริที่จะปราบปรามและรวมรวบหัวเมืองต่างๆเข้าไว้เป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวกัน


สงครามขยายอาณาจักรเริ่มขึ้น....
พระองค์ทรงยกทัพไปตีเมืองต่างๆที่อยุ่ในเขต"แคว้นโยนก" ได้เมืองมอง เมืองไล่ เมืองเชียงคำ ต่อมาทรงได้โปรดให้สร้างเมืองเชียงรายขึ้น ในพ.ศ.๑๘๐๕ /ค.ศ.1262 และได้ทรงเสด็จมาประทับที่เมืองเชียงรายนับตั้งแต่นั้นมา

ทำไมพระเจ้ามังรายย้ายมาอยู่เชียงราย?
เพราะพระองค์ทรงหวั่นเกรงกองทัพมองโกลซึงกำลังจะยึดยูนนาน พม่าและตังเกี๋ย ประกอบกับพลเมืองหิรัญนครเงินยางเพิ่มมากขึ้น ทำให้ที่อยู่อาศัยไม่เพียงพอ จงต้องย้ายมาสร้างเมืองใหม่ในที่ราบอันอุดมสมบูรณ์

หลังจากนั้นอีก 5 ปี หรือค.ศ.1267 เสด็จไปประทับที่"เมืองฝาง" 

ต่อมายึด"เชียงของ"ได้ในพ.ศ.๑๘๑๒ / ค.ศ.1269

ในปีพ.ศ.๑๘๑๙ / ค.ศ.1276 พระเจ้ามังรายยกทัพเพื่อจะไปตีเมืองพะเยา ซึงขณะนั้น"พระเจ้างำเมือง"ครอบครองอยู่ แต่ไม่มีการรบและทั้งสองฝ่ายกลับเป็นไมตรีต่อกัน (พะเยารอดไป!)

ทำไมต้องพระเจ้ามังรายต้องยกทัพมาตีหริภุญไชย?
เพราะว่าพระองค์ทราบเรื่อง"ความอุดมสมบูรณ์"ของแคว้นหริภุญไชย"ซึงอยู่ในเขตลุ่มแม่น้ำปิงและแม่น้ำวังนั้นเอง!

พระองค์ทรงใช้ความพยายามอยู่หลายปีเพื่อจะยึดครอง"เมืองหริภุญไชย"และสามารถยึดได้ในที่สุดเมื่อปีพ.ศ.๑๘๒๔ / ค.ศ.1281...จากศึกพะเยาจนยึดหริภุญไชยได้ ก็ใช้เวลาประมาณ 5 ปี ถือว่าไม่นานเท่าไหรเนอะ! (ในชินกาลมาลีปกรณ์ เสนอว่าพระเจ้ามังรายยึดครองหริภุญไชยในปีพ.ศ.๑๘๓๕ / ค.ศ.1292)

พระเจ้ามังรายทรงประทับอยู่ที่เมืองหริภุญไชยเพียง 2 ปี จึงมอบให้ขุนนางชื่ออ้ายฟ้า ปกครองเมืองหริภุญไชย (เบื่อเร็วจริงๆ ใช้เวลาห้าปีตีเมือง แต่อยู่เพียงสองปี ไม่ค่อยคุ้มเท่าไหร่เลยอะ)


พระเจ้ามังรายยึดครองแคว้นหริภุญไชยได้ในปีค.ศ.1281 และสร้างเวียงกุมกามในปีค.ศ.1286 ระยะห่างของสองเมืองนี้คือ 5 ปี เรารู้ว่าพระองค์ประทับที่หริภุญไชยเพียงสองปีเท่านั้น แล้วอีก 3 ปีที่เหลือหายไปไหน?
พระองค์เสด็จไปสร้างเมือง ณ ทิศเบื้องตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองหริภุญไชย ประทับอยู่ได้ 3 ปี เห็นเป็นที่ลุ่มเป็นที่ลำบากจึงทรงย้ายมาสร้างเมืองใหม่คือเวียงกุมกาม


ต่อมาทรางสร้าง"เวียงกุมกาม"เป็นที่ประทับ ในพ.ศ.๑๘๒๙ / ค.ศ.1286 (ประทับนานถึง 10 ปี ก่อนไปสร้างเชียงใหม่)

ในที่สุดในปี พ.ศ.๑๘๓๙ /ค.ศ.1296 ได้ทรงสร้างเมืองแห่งใหม่อีกครั้งในบริเวณที่ราบเชิงดอยสุเทพ เมื่อสร้างเสร็จให้ชื่อเมืองแห่งนี้ว่า"นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่"

พระเจ้ามังรายทรงประทับอยู่ที่เมืองเชียงใหม่จนสิ้นพระชนม์ในปีพ.ศ.๑๘๕๔ / ค.ศ.1311 (รวมระยะเวลาทั้งสิ้นที่พระองค์ประทับที่เชียงใหม่คือ 15 ปี)

"สรุป"
เส้นทางของพระเจ้ามังรายก่อนจะมาถึงเชียใหม่คือ หิรัญนครเงินยาง เชียงแสน - ยึดแคว้นโยนก - สร้างเมืองเชียงราย -ประทับที่ฝาง - ยึดเชียงของ - ยกทัพไปลุยพะเยา - ตีหริภุญไชย - สร้างเมืองทิศเบื้องตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองหริภุญไชย - สร้างเวียงกุมกาม - สุดท้ายคือสร้างเชียงใหม่

พระองค์ทรงสร้างสี่เมืองคือเชียงราย เมืองทางทิศอีสานของหริภุญไชย เวียงกุมกามและเชียงใหม่  

พระองค์ใช้เวลาเดินทาง เดินทัพ ตั้งแต่ขึ้นครองราชย์จนถึงสร้างเมืองเชียงใหม่ ทั้งสิ้น 35 ปี(ค.ศ.1261 - 1296) 


หมายเหตุ :
1.แคว้นหริภุญไชยคือดินแดนที่อยู่เขตที่ราบลุ่มแม่น้ำปิงและแม่น้ำวัง โดยมีเมืองลำพูนเป็นเมืองสำคัญและมีเมืองลำปางเป็นส่วนหนึ่งของแคว้น

2.เมืองหิรัญนครเงินยาง เชียงแสน เชื่อกันว่าเมืองนี้อาจจะเป็นเมืองเชียงแสนหรือเมืองใดเมืองหนึ่งในบริเวณใกล้เคียง

3.แคว้นโยนก ตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มของแม่น้ำหลายๆแห่ง ที่อยู่ต่อเนื่องในเขตจังหวัดเชียงราย เช่น ที่ราบลุ่มแม่น้ำกก แม่น้ำลาว แม่น้ำสายและแม่น้ำโขง รวมเรียกว่าที่ราบลุ่มเชียงราย

4.ตามตำนาน"เมืองโยนก"ได้ล่มจม กลายเป็นหนองน้ำใหญ่ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นหนองน้ำใหญ่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภอเชียงแสนปัจจุบัน

5.ปีที่สร้างเวียงกุมกามยังถึงข้อถกเถียง "ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่"ระบุว่าเวียงกุมกามสร้างในปีพ.ศ.๑๘๒๙ แต่ใน"ชินกาลมาลีปกรณ์"ระบุว่าเป็นปีพ.ศ.๑๘๔๖ ส่วนอาจารย์สรัสวดี อ๋องสกุลได้เสนอว่าเวียงกุมกามควรจะถูกสร้างในปีพ.ศ.๑๘๓๗


ขอบคุณข้อมูลดีๆจากหนังสือ"แผ่นดินล้านนา"
โดยอาจารย์สุรพล ดำริห์กุล คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ

เวลา 23.30 น.
วันจันทร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ.2556
ผมเอง...PattyFromTheBlock