ดูปลา ดูคน ชอบกลยิ่งนัก!

"มีจื่อเจี้ยน"หนึ่งในศิษย์ของขงจื๊อได้รับมอบหมายจาก"หลู่อัยกง"เจ้าผู้ครองแคว้นให้ไปปฏิบัติหน้าที่ที่ท้องที่"ตานฟู่" 

ก่อนจะมาที่ตานฟู่เขาก็เริ่มศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการปกครองท้องที่แห่งนี้แล้ว

ระหว่างทางที่มาตานฟู่ เขารู้มาว่า"ท่านผู้เฒ่าหยางโจ้ว" ผู้ดำรงตนในครองธรรม อาศัยอยู่ไม่ไกลจาที่นี้จึงได้ไปเยี่ยมคารวะท่านก่อน ท่านผู้เฒ่าไม่ได้พูดถึงหลักการปกครองโดยตรง แต่ได้กล่าวถึงหลักการตกปลาไว้ว่า เมื่อหย่อนสายเบ็ดกับเหยื่องลงไป ปลาที่มากินเหยื่อทันทีคือ "ปลาหยางเฉียว" ปลาชนิดนี้ไม่ค่อยมีเนื้อมีหนัง รสชาติก็ไม่อร่อย ส่วนปลาที่ว่ายไปมา เหมือนจะกินเหยื่อแต่ก็ไม่กิน นั่นคือ "ปลาฟาง" ปลาชนิดนี้มีเนื้อหนังอ้วนพี รสชาติหวานสด

คำพูดของผู้เฒ่าหยางโจ้ว ทำให้ตนเข้าใจเหตุผลข้อหนึ่งของหลักการปกครอง นั่นคือจงปลีกห่างจาก"ปลาชนิดแรก" แต่ให้แสวงหา"ปลาชนิดหลัง 

เมื่อเสร็จสิ้นการสนทนากับท่านผู้เฒ่าแล้ว เขาก็รีบเดินทางต่อแต่ยังไม่ทันถึงตานฟู่ก็เห็นบรรดาขุนนางกับเจ้าพนักงานท้องที่มาต้อนรับระหว่างทาง

เขารีบบอกกับคนรถว่า "รีบเร็วเข้า! เร็ว! ปลาหยางเฉียว ที่ท่านผู้เฒ่าหยางโจ้วพูดถึงนั้นมากันแล้ว"


ที่มา : ขงจื๊อ คุณครูผู้เป็นทีรัก

ความรู้ข้างถ้วยชา



"...อย่ากังวลว่าจะไร้ตำแหน่งหน้าที่ แต่ให้ใส่ใจว่าตนมีความสามารถพอสำหรับตำแหน่งหน้าที่นั้นหรือไม่..." ขงจื๊อ 

"หากต้องการเปลี่ยนแปลงชาติบ้านเมืองให้เริ่มเปลี่ยนที่ความคิดของคน การจะเปลี่ยนแปลงความคิดก็ต้องให้ความสำคัญกับการศึกษา" ขงจื๊อ

"เมื่อต้องโอนอ่อนก็ให้โอนอ่อน เมื่อต้องแข็งกร้าวก็ให้แข็งกร้าว" ขงจื้อ 

"น้ำลายของคน ไหลแรงยิ่งกว่ากระแสน้ำเชี่ยว" 

"การปกครองผู้คนด้วยกำลังอำนาจและกฏข้อบังคับ นี่คือ "วิธีเผด็จการ"
การอบรมสั่งสอนให้ประชาชนรู้จักปร้บปรุงพัฒนาตนเอง คือ"วิธีราชธรรม"
วิธีเผด็จการมักว่ากันด้วย "กำปั้น" แต่การอบรมสั่งสอนย่อมให้ผลดีกว่าการใช้กำลัง"
 ขงจื๊อ


จื่อก้ง หนึ่งในศิษย์ของขงจื้อ
"ในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น คนเรามักกระทำผิดเรื่องหนึ่ง นั่นคือการตัดสินคนคนหนึ่งอย่างฉาบฉวย จึงควรตระหนักไว้ว่า ผู้มีคุณสมบัติพร้อมสรรพจะไม่ด่วนตัดสินใครอย่างง่ายดาย ไม่เช่นนั้นอาจจะมองคนคนหนึ่งผิดจนนำความเสียหายมาสู่ตนเองอย่างไม่คาดคิด หรืออาจจะพลาดโอกาสสำคัญในชีวิตไปก็ได้
....คิดผิดเพียงชั่วครั้ง อาจพลาดพลั้งชั่วชีวิต....


"ความรู้เป็นสิ่งสำคัญ แต่ปัญญาสำคัญยิ่งกว่า....จงใช้ปัญญานำความรู้"  ขงจื๊อ

"การจะประสบความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ต้องบ่มเพราะความอดทน เพียงเพราะเรื่องเล็กน้อย หากไม่รู้จักอดทน อาจเสียการใหญ่ อดทนต่อการถูกดูหมิ่นเหยียดหยามได้ จึงจะแบกรับภาระอันหนักอึ้งได้ จะย่ำแย่เพียงใด ก็ไม่อาจเอาชนะหัวใจที่มีรอยยิ้มได้" ขงจื๊อ

"ความโกรธพุ่งจากส้นตีนขึ้นมายันกระหม่อม" #ซ้องกั๋ง วีรบุรุษเขาเหลียงซาน

"อย่าได้กลัวเจ้าพนักงานหน้าไหน ถ้าไม่ใช่นายตัว" #ซ้องกั๋งวีรบุรุษเขาเหลียงซาน

ความรู้คู่นิยายจีน #ซ้องกั๋ง วีรบุรุษเขาเหลียงซาน
...1 ลี้ เท่ากับครึงกิโลเมตร
...1 เซียะ เท่ากับ 1 ฟุต หรือ 1 ศอก 

...1 ชั่ง เท่ากับ 600 กรัม หรือ 6 ขีด
...1 ชั่วยาม คือ 2 ชั่วโมง ยามแรกคือ19.00-21.00 และนับต่อไปทุกสองชั่วโมง แต่จีนเปลียนมาใช้ปฏิทินแบบปัจจุบันหลังปีค.ศ.1929 แต่กว่าชาวบ้านทั่วไปจะปฏิบัติจริงๆก็หลังการปฏิวัติในปี ค.ศ.1949
 

เรื่องเล่าจากตำรา ตอนเวียงกุมกาม เวียงอะไรนะ!

ผมเชื่อว่าหลายคนเคยได้ยินชื่อเวียงกุมกามกันมาบ้างแล้ว บางคนก็คงมีโอกาสไปเยี่ยมชมโบราณสถานแห่งนี้แล้ว บางคนกำลังวางแผนที่จะไป บางคนอาจจะได้ยินเป็นครั้งแรก บางคนเคยได้ยินแต่ไม่รู้ว่าเวียงกุมกามคืออะไร

เรามาค้นหาคำตอบกันดีกว่าว่า"เวียงกุมกามคืออะไร"

"....มีชื่อเรียกว่า เวียงกุมกาม โดยโปรดให้ขุดคูเวียงทั้งสี่ด้าน ไขน้ำปิงให้ขังไว้ในคูเวียงและตั้งลำเวียกรอบทุกเบื้อง ในพงศาวดารภาคที่ 61 กล่าวว่า ถึงพุทธศักราช 1829 ปีระวายเสด พญามังรายเจ้าก็ยกเอาหมู่รี้พลไปตั้งบ้านเชียงกุ่มกวม แม่น้ำระมิง ตั้งบ้านอยู่ 3 แห่ง แห่งทีหนึ่งชื่อว่าบ้านกลาง แห่งที่สองชื่อว่าบ้านลุ่ม แห่งทีสามชื่อว่าบ้านแห้มแล ถึงยามกลางพรรษาน้ำท่วมฉิบหายมากนัก..."

เวียงกุมกามคืออะไร?
เวียงกุมกาม หรือ นครเกาะกุมกาม คือเมืองเก่าเมืองหนึ่งที่สร้างขึ้นโดยพระเจ้ามังราย ปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจัการล้านนาและได้ทรงประทับอยู่ที่นี้ถึง 10 ปี หลังจากนั้นจึงได้สร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้นมาในชือว่า"นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่"

เวียงกุมกามสร้างขึ้นมาเมื่อไหร่?
เวียงกุมกามสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๑๘๒๙ / ค.ศ.1286 ส่วนเชียงใหม่สร้างในปี พ.ศ.๑๘๓๙ /ค.ศ.1296 โว๊ะ! นั้นแสดงว่าเวียงกุมกามเก่ากว่าเชียงใหม่อีกเนอะ

ปัจจุบันเวียงกุมกามตั้งอยู่ที่ไหน?
ปัจจุบันร่องรอยของเวียงกุมกามปรากฏอยู่ในเขตพื้นที่ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีระยะห่างจากเมืองเชียงใหม่ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 5 กิโลเมตรเศษ


แผนที่แสดงการเปลี่ยนร่องน้ำของแม่น้ำปิง โดยอ.สรัสวดี อ๋องสกุล


เมืองโบราณเวียงกุมกามมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร
เวียงกุมกามมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีความยาวประมาณ 850 เมตร ไปตามแนวทิศตะวันออกเฉียงใต้สู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และกว้างประมาณ 600 เมตร ตัวเมืองยาวไปตาม"ลำน้ำปิงสายเดิม"ที่เคยไหลไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

เฮ้ย!ที่บอกว่า"ลำน้ำปิงสายเดิม" แปลว่าอะไร? แล้ว"ล้ำน้ำปิงสายใหม่"คืออะไร?
ในสมัยโบราณเวียงกุมกามจะตั้งอยู่บนฝั่ง"ทิศตะวันตก หรือ ฝั่งเดียวกับเมืองเชียงใหม่" แต่เนื่องจากกระแสของแม่น้ำปิงเปลี่ยนทิศทาง จึงทำให้เวียงกุมกามเปลี่ยนมาตั้งอยู่ทางฝั่งด้าน"ตะวันออกที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน"

แถมให้อีกนิดจะได้ไม่สงสัยว่าทำไมเวียงกุมกามจึงกลายเป็นเมืองร้าง?
ช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงกระแสน้ำคาดว่าน่าจะอยู่ประมาณ"พุทธศตวรรษที่ 23" ซึ่งขณะนั้นบ้านเมืองกำลังอยู่ในช่วงระส่ำระสายเกิดความวุ่นวาย เนื่องจากพม่าเข้ายึดครองและเกิดการสู้รบชิงอำนาจกัน

การเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำครั้งนั้น ได้ทำให้เกิดน้ำท่วมเวียงกุมกามครั้งใหญ่จนเวียงกุมกาม"ล่มสลาย" และวัดวาอารามจมอยู่ใต้ดินทราย จนเป็นเมืองร้างไปในที่สุด

จากการขุดค้นทางโบราณคดีพบว่า วัดบางวัดในบริเวณเวียงกุมกามที่เคยอยู่ใกล้กับลำน้ำปิงสายเดิมและถูกน้ำท่วมถูกดินทรายทับถมลึกถึง 1.5 - 2 เมตร

แผนที่แสดงที่ตั้งโบราณสถานและการหันทิศของโบราณสถานในเวียงกุมกาม

แล้วเวียงกุมกาม เมืองที่ร้างเพราะน้ำท่วม ค้นพบเมื่อไหร่?
จุดเริ่มต้นของการขุดค้นศึกษาทางโบราณคดีในเวียงกุมกาม เกิดจากชาวบ้านได้ขุดพบ"พระพิมพ์ดินเผา"เป็นจำนวนมาก ในบริเวณ"สนามหญ้าหน้าโรงเรียนวัดช้างค้ำเก่า" ในช่วงต้นปีพ.ศ.2527 /ค.ศ.1984

หลังจากนั้นกรมศิลปากรได้เข้าไปดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีระหว่างปีพ.ศ.2528 - 2532 ซึงจากการสำรวจพบว่ามีโบราณสถานกระจายอยู่ทั้งในเขตเวียงกุมกามและใกล้เคียงรวมจำนวน 25 แห่ง แบ่งเป็น
1.โบราณสถานร้าง 21 แห่ง
2.มีวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ในเขตเวียงกุมกามและใกล้เคียงเพียง 4 วัดคือ วัดช้างค้ำ วัดเสาหิน วัดศรีบุญเรือง และวัดเจดีย์เหลี่ยม เป็นต้น

แล้ววัดหรือซากโบราณสถานในเวียงกุมกามมีหน้าตาเป็นแบบไหน พอจะสันนิษฐานได้ไหม?
จากการขุดค้นทางโบราณคดีและบูรณะแล้วจำนวน 11 แห่ง จะขอพูดถึงสองเรื่องคร่าวๆคือลักษณะเจดีย์และลักษณะของวิหาร

เจดียในเวียงกุมกาม(ที่ขุดค้นแล้ว) จำนวน 18 องค์ สามารถแบ่งตามลักษณะได้ดังนี้คิอ
1.เจดีย์เหลี่ยมหรือเจดีย์สีเหลี่ยม  จำนวน 1 องค์
2.เจดีย์ทรงกลมแบบพื้นเมืองเชียงแสนหรือล้านนา จำนวน 1 องค์
3.เจดีย์ทรงปราสาทหรือแบบสี่เหลี่ยมผสมทรงกลม จำนวน 1 องค์
4.เจดีย์ทรงกลมแบบเชียงใหม่ จำนวน 1 องค์
5.เจดีย์แปลเหลี่ยม จำนวน 3 องค์
6.เจดีย์แบบช้างล้อม จำนวน 2 องค์
7.ซากเจดีย์ไม่ทราบรูปร่าง จำนวน 9 องค์

สำหรับลักษณะรูปทรงวิหารของเวียงกุมกามเกือบส่วนมากจะเป็นแบบที่เรียกว่า"ขื่อม้าต่างไหม"และ"เป็นวิหารโถงหรือวิหารเปิด" รวมถึงการย่อมุมและการลดชั้นของหลังคาวิหาร เขียนอย่างนี้อาจจะงงและนึกภาพไม่ออก ใครเคยไปวัดพระธาตุลำปางหลวงบ้าง? ถ้าเคยไปคงนึกภาพวิหารหลวงด้านหน้าออก แบบนั้นละครับที่เรียกว่า"วิหารโถงหรือวิหารเปิด"

วิหารหลวง วัดพระธาตุลำปางหลวง เป็นตัวอย่างของสิ่งที่เอ่ยมาทั้งหมด ทั้งลักษณะของหลังคา การย่อมมุมส่วนของพื้น วิหารเปิดโล่งหรือวิหารโถง ยกเว้นเพดานเพราะทางวัดบูรณะและเปลี่ยนจากเพดานที่เปิดโล่งสามารถเห็นโครงสร้างของหลังคา"ขื่อม้าต่างไหม"เป็นปิดมิดชิด ไม่เห็นอะไรทั้งสิ้น หมดคุณค่ากันพอดี เวงกำ!

แต่ถ้าใครอยากจะเห็นว่าหน้าตาเป็นอย่างไรก็ยังพอมีให้ชม สามารถไปชมที่ได้ที่วิหารวัดพันเตา วิหารวัดต้นแกว๋น วิหารวัดปราสาทและวิหารวัดพระธาตุเสด็จ เป็นต้น

นี้ละครับภาพคร่าวๆ ของเมืองโบราณที่เรียกว่า"เวียงกุมกาม" ขอให้การไปเที่ยวเวียงกุมกามครั้งต่อไปมีความสุขและมีความเข้าใจในโบราณสถานมากขึ้นนะครับ

.....ยินดีที่ได้รับใช้และแบ่งปันความรู้ดีๆให้ทุกคนได้อ่าน....


ขอบคุณภาพและข้อมูลๆดีจาก"หนังสือแผ่นดินล้านนา" อาจารย์สุรพล ดำริห์กุล คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำนักพิมพ์เมืองโบราณ

เวลา 23.30 น.
วันอังคารที่ 3 กันยายน พ.ศ.2556
ผมเอง...PattyFromTheBlock

เรื่องเล่าจากตำรา ตอนตามรอยพระเจ้ามังราย 35 ปีก่อนสร้างเชียงใหม่

อ่านหนังสือแล้วรู้สึกติดใจช่วงเวลาก่อนสร้างเมืองเชียงใหม่ ตั้งแต่การเดินทางจากเชียงแสน สร้างเมืองเชียงราย ตีหริภุญไชย ครอบครองลำปาง ย้ายฐานมาเวียงกุมกามและสุดท้ายพระองค์ทรงตัดสินใจสร้างเมืองเชียงใหม่ ชอบเฉพาะส่วนนี้แหละ ก็เลยตัดสินสินใจยกเอาเรื่องราวตอนนี้มาแบ่งปันให้สหมิตรได้อ่านกันแบบเพลินๆสบายๆ


พระเจ้ามังรายเป็นใคร?
พระองค์ทรงสืบเชื้อสายมาจากกษัตริย์ในราชวงศ์"ลวจักราช แห่งเมืองหิรัญนครเงินยาง เชียงแสน แคว้นโยนก"

พระองค์เป็นโอรสของเจ้าลาวเมงกับนางเทพคำขยาย ราชธิดาของเจ้าเมืองเชียงรุ้ง

พระเจ้ามังรายขึ้นครองราชย์เมือไหร่?
พระองค์ขึ้นเสวยราชย์ที่เมืองหิรัญนครเงินยาง เชียงแสน ในปีพ.ศ.๑๘๐๔ / ค.ศ.1261

สาเหตุที่พระเจ้ามังรายออกรบและเข้าสู่สงคราม?
หลังจากพระองค์ขึ้นครองราชย์ ทรงพิจารณาเห็นว่าตัวเองเป็นเชื้อสายโดยตรงที่สืบมาจากปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ลวจักราช แต่เจ้าเมืองที่อยู่โดยรอบไม่ถวายพระเกียรติและไม่สมัครสมายสามัคคี วิวาทแย่งชิงไพร่ชิงแดนกันอยู่เสมอ ทำให้เกิดความทุกข์ยากแก่อาณาประชาราษฎร์ยิ่งนัก จึงมีดำริที่จะปราบปรามและรวมรวบหัวเมืองต่างๆเข้าไว้เป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวกัน


สงครามขยายอาณาจักรเริ่มขึ้น....
พระองค์ทรงยกทัพไปตีเมืองต่างๆที่อยุ่ในเขต"แคว้นโยนก" ได้เมืองมอง เมืองไล่ เมืองเชียงคำ ต่อมาทรงได้โปรดให้สร้างเมืองเชียงรายขึ้น ในพ.ศ.๑๘๐๕ /ค.ศ.1262 และได้ทรงเสด็จมาประทับที่เมืองเชียงรายนับตั้งแต่นั้นมา

ทำไมพระเจ้ามังรายย้ายมาอยู่เชียงราย?
เพราะพระองค์ทรงหวั่นเกรงกองทัพมองโกลซึงกำลังจะยึดยูนนาน พม่าและตังเกี๋ย ประกอบกับพลเมืองหิรัญนครเงินยางเพิ่มมากขึ้น ทำให้ที่อยู่อาศัยไม่เพียงพอ จงต้องย้ายมาสร้างเมืองใหม่ในที่ราบอันอุดมสมบูรณ์

หลังจากนั้นอีก 5 ปี หรือค.ศ.1267 เสด็จไปประทับที่"เมืองฝาง" 

ต่อมายึด"เชียงของ"ได้ในพ.ศ.๑๘๑๒ / ค.ศ.1269

ในปีพ.ศ.๑๘๑๙ / ค.ศ.1276 พระเจ้ามังรายยกทัพเพื่อจะไปตีเมืองพะเยา ซึงขณะนั้น"พระเจ้างำเมือง"ครอบครองอยู่ แต่ไม่มีการรบและทั้งสองฝ่ายกลับเป็นไมตรีต่อกัน (พะเยารอดไป!)

ทำไมต้องพระเจ้ามังรายต้องยกทัพมาตีหริภุญไชย?
เพราะว่าพระองค์ทราบเรื่อง"ความอุดมสมบูรณ์"ของแคว้นหริภุญไชย"ซึงอยู่ในเขตลุ่มแม่น้ำปิงและแม่น้ำวังนั้นเอง!

พระองค์ทรงใช้ความพยายามอยู่หลายปีเพื่อจะยึดครอง"เมืองหริภุญไชย"และสามารถยึดได้ในที่สุดเมื่อปีพ.ศ.๑๘๒๔ / ค.ศ.1281...จากศึกพะเยาจนยึดหริภุญไชยได้ ก็ใช้เวลาประมาณ 5 ปี ถือว่าไม่นานเท่าไหรเนอะ! (ในชินกาลมาลีปกรณ์ เสนอว่าพระเจ้ามังรายยึดครองหริภุญไชยในปีพ.ศ.๑๘๓๕ / ค.ศ.1292)

พระเจ้ามังรายทรงประทับอยู่ที่เมืองหริภุญไชยเพียง 2 ปี จึงมอบให้ขุนนางชื่ออ้ายฟ้า ปกครองเมืองหริภุญไชย (เบื่อเร็วจริงๆ ใช้เวลาห้าปีตีเมือง แต่อยู่เพียงสองปี ไม่ค่อยคุ้มเท่าไหร่เลยอะ)


พระเจ้ามังรายยึดครองแคว้นหริภุญไชยได้ในปีค.ศ.1281 และสร้างเวียงกุมกามในปีค.ศ.1286 ระยะห่างของสองเมืองนี้คือ 5 ปี เรารู้ว่าพระองค์ประทับที่หริภุญไชยเพียงสองปีเท่านั้น แล้วอีก 3 ปีที่เหลือหายไปไหน?
พระองค์เสด็จไปสร้างเมือง ณ ทิศเบื้องตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองหริภุญไชย ประทับอยู่ได้ 3 ปี เห็นเป็นที่ลุ่มเป็นที่ลำบากจึงทรงย้ายมาสร้างเมืองใหม่คือเวียงกุมกาม


ต่อมาทรางสร้าง"เวียงกุมกาม"เป็นที่ประทับ ในพ.ศ.๑๘๒๙ / ค.ศ.1286 (ประทับนานถึง 10 ปี ก่อนไปสร้างเชียงใหม่)

ในที่สุดในปี พ.ศ.๑๘๓๙ /ค.ศ.1296 ได้ทรงสร้างเมืองแห่งใหม่อีกครั้งในบริเวณที่ราบเชิงดอยสุเทพ เมื่อสร้างเสร็จให้ชื่อเมืองแห่งนี้ว่า"นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่"

พระเจ้ามังรายทรงประทับอยู่ที่เมืองเชียงใหม่จนสิ้นพระชนม์ในปีพ.ศ.๑๘๕๔ / ค.ศ.1311 (รวมระยะเวลาทั้งสิ้นที่พระองค์ประทับที่เชียงใหม่คือ 15 ปี)

"สรุป"
เส้นทางของพระเจ้ามังรายก่อนจะมาถึงเชียใหม่คือ หิรัญนครเงินยาง เชียงแสน - ยึดแคว้นโยนก - สร้างเมืองเชียงราย -ประทับที่ฝาง - ยึดเชียงของ - ยกทัพไปลุยพะเยา - ตีหริภุญไชย - สร้างเมืองทิศเบื้องตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองหริภุญไชย - สร้างเวียงกุมกาม - สุดท้ายคือสร้างเชียงใหม่

พระองค์ทรงสร้างสี่เมืองคือเชียงราย เมืองทางทิศอีสานของหริภุญไชย เวียงกุมกามและเชียงใหม่  

พระองค์ใช้เวลาเดินทาง เดินทัพ ตั้งแต่ขึ้นครองราชย์จนถึงสร้างเมืองเชียงใหม่ ทั้งสิ้น 35 ปี(ค.ศ.1261 - 1296) 


หมายเหตุ :
1.แคว้นหริภุญไชยคือดินแดนที่อยู่เขตที่ราบลุ่มแม่น้ำปิงและแม่น้ำวัง โดยมีเมืองลำพูนเป็นเมืองสำคัญและมีเมืองลำปางเป็นส่วนหนึ่งของแคว้น

2.เมืองหิรัญนครเงินยาง เชียงแสน เชื่อกันว่าเมืองนี้อาจจะเป็นเมืองเชียงแสนหรือเมืองใดเมืองหนึ่งในบริเวณใกล้เคียง

3.แคว้นโยนก ตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มของแม่น้ำหลายๆแห่ง ที่อยู่ต่อเนื่องในเขตจังหวัดเชียงราย เช่น ที่ราบลุ่มแม่น้ำกก แม่น้ำลาว แม่น้ำสายและแม่น้ำโขง รวมเรียกว่าที่ราบลุ่มเชียงราย

4.ตามตำนาน"เมืองโยนก"ได้ล่มจม กลายเป็นหนองน้ำใหญ่ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นหนองน้ำใหญ่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภอเชียงแสนปัจจุบัน

5.ปีที่สร้างเวียงกุมกามยังถึงข้อถกเถียง "ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่"ระบุว่าเวียงกุมกามสร้างในปีพ.ศ.๑๘๒๙ แต่ใน"ชินกาลมาลีปกรณ์"ระบุว่าเป็นปีพ.ศ.๑๘๔๖ ส่วนอาจารย์สรัสวดี อ๋องสกุลได้เสนอว่าเวียงกุมกามควรจะถูกสร้างในปีพ.ศ.๑๘๓๗


ขอบคุณข้อมูลดีๆจากหนังสือ"แผ่นดินล้านนา"
โดยอาจารย์สุรพล ดำริห์กุล คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ

เวลา 23.30 น.
วันจันทร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ.2556
ผมเอง...PattyFromTheBlock

วันพระกับพระเจ้ามิลินท์


"วันนี้วันพระ...แรม ๘ ค่ำ เดือน ๙"

ก็เลยหยิบเอาเรื่องนี้มาฝากจะได้เป็นมงคลแก่ชีวิตสำหรับเหล่าผู้มีศีลมีธรรมทุกท่าน

....พระเจ้ามิลินท์หรือเมนันเดอร์ เป็นกษัตริย์ที่มีเดชานุภาพมากพระองค์หนึ่งหนึ่ง พระองค์เป็นกษัตริย์เชื่อสายกรีกครองอินเดีย เป็นผู้จุดประกายแห่งพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นมาอีกยุคหนึ่ง

แม้ว่าเดิมทีพระองค์มิได้นับถือพระพุทธศาสนา ทั้งยังทรงต่อต้านและดูแคลนอีกด้วย


ภาพ : พระสงฆ์และเณรวัดเจดีย์หลวง เชียงใหม่ ลงวิหารทำวัตรเย็น

ภายหลังจากที่ได้ปุจฉาวิสัชนากับพระนาคเสนแล้ว พระองค์ทรงหมดความสงสัยในพระพุทธศาสนาอย่างสิ้นเชิง ทรงมีความเลื่อมใสและทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาเป็นอเนกประการ เสด็จออกผนวชปฏิบัติธรรมจนสำเร็จเป็ฯพระอรหันต์รูปหนึ่ง

มีเหตุการณ์สำคัญอีกประการหนึ่งที่ควรกล่าวถึงคือ มีการสร้างพระพุทธรูปขึ้นเป็นครั้งแรก และนับเป็นแบบอย่างของพุทธศาสนิกชนที่นิยมสร้างพระพุทธรูปสืบเนื่องมาจนถึงสมัยปัจจุบัน

ส่วนหนังสือมิลินทปัญหาก็ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆจำนวนมาก และเป็นคลังปัญญาที่สำคัญของพุทธศาสนิกชน มาจนถึงปัจจุบัน

ข้อมูลโดย : 
ประวัติพุทธศาสนา มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

เวลา ๐๗.๔๕ น.
วันพฤหัสบดีที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๖
ผมเอง...PattyFromTheBlock

เชียงใหม่...เกร็ดเล็กๆว่าด้วยเรื่องความเป็นมาของกำแพงเมือง คูเมือง ประตูและป้อมทั้งสี่

"นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่"

จำไม่ได้แล้วว่าอ่านจากหนังสือเล่มไหนทำให้ไม่สามารถอ้างอิงแหล่งที่มาได้ ต้องขอโทษเป็นอย่างยิ่ง

เรื่องนี้ผมคัดย่อและเก็บเอาไว้อ่านเอง ตามบันทึกก็คือวันที่ 3 กันยายน พ.ศ.2554 ถือได้ว่าเป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น่าสนใจสำหรับเชียงใหม่ อดีตเมืองหลวงแห่งอาณาจักรล้านนา ขอเชิญเสพความสุขจากการอ่านได้เลยขอรับ \\((^__^))//

มีโอกาสคราวหน้าผมจะพยายามเดินถ่ายรูปประตูเมืองและแจ่งทั้งหมดมาฝาก...


ภาพ : อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ เมืองเชียงใหม่


ตามหลักศิลาจารึกวัดเชียงมั่น ระบุวันเวลาที่สร้างเมืองเชียงใหม่ว่า "ตรงกับวันที่ 12 เมษายน ค.ศ.1293 เวลาประมาณ 04.45 น."

เริ่มจากขุดคูน้ำกว้าง 9 วา หรือ 18 เมตร ถมดินเป็นแนวกำแพง ขุดจากมุมเมืองทางด้าน"ตะวันออก (แจ่งศรีภูมิ)" อันเป็นทิศมงคล แล้วก่ออิฐขนาบทั้งสองข้าง

ข้างบนกำแพงปูอิฐแล้วทำเสมาบนกำแพงทั้งสี่ด้าน กว้าง 900 วา (1,800 เมตร) ยาว 1,000 วา (2,000 เมตร) พร้อมกับสร้างราชมณเฑียรและตั้งตลาด รวมเวลาในการสร้างเมือง 4 เดือนเต็ม

ว่ากันว่า
"ทรงสร้างกำแพงเมืองแข็งแรงยิ่ง ก่อด้วยหินแข็ง สูงใหญ่ ทรงสร้างป้อม หอรบ เหมือนชะลอวิมานลงมา คูเมืองลึก และกว้างขวางเป็นที่น่าขยาด มีน้ำเต็มอยู่ตลอดเวลา ดอกบัวบานส่งกลิ่นหอมขจรไป มีงู เงือก จระเข้ ระเกะระกะเฝ้ารักษาเวียงไว้"

ประตูเมือง กำแพงเมือง แจ่ง และคูเมือง คือปราการที่สร้างขึ้นสำหรับปกป้องเมืองสมัยพญามังราย โปรดให้สร้าง "ประตูเมืองกว้าง 4 วา (8เมตร)" ไว้ทั้งสี่ด้านของกำแพงเมือง เคยบูรณะ "ซ่อมแซม" ในสมัยพระเจ้ากาวิละและ "สร้างเสริม"อีกครั้งในค.ศ.1966 - 1969

ประตูเชียงใหม่ (อยู่ทางทิศใต้)
เดิมเรียกว่าประตู"ท้ายเมือง" เป็นประตูนามเมือง "ห้าม"น้ำศพออกทางประตูนี้ เพราะถือเป็นกาลกิณี
เดิมเป็นเส้นทางที่เป็นทางออกสู่ลำพูน
มีเทวบุตรชื่อ "เชยยภูมโม" เป็นผู้รักษาประตู

ประตูช้างเผือก (อยุ่ทางทิศเหนือ)
เดิมเรียกว่าประตู "หัวเมือง" เพราะถือว่าเป็นหัวของเชียงใหม่
พิธิีราชาภิเษกกษัตริย์เชียงใหม่สมัยโบราณจะเสด็จเข้าทางประตูช้างเผือก
สมัยพญาแสนเมืองมา ได้สร้างอนุสาวรีย์ช้างเผือกสองเชือกขึ้นทางทิศเหนือของประตู ด้านใต้ชื่อ"ปราบจักรวาล" ด้านเหนือชื่อ"ปราบเมืองมารเมืองยักษ์" ช้างทั้งสองถือเป็นมิ่งมงคลทางเชียงใหม่และเป็นที่มาของชื่อ"ประตูช้างเผือก"
มีเทวบุตรชื่อ "คันะรักขิโต"

ประตูท่าแพ (อยูทางทิศตะวันออก)
เป็นประตูออกสู่แม่น้ำปิง
เดิมเรียก "ประตูเชียงเรือก" เพราะอยู่ใกล้หมู่บ้านเชียงเรือก ต่อมาเรียก "ประตูท่าแพ" สันนิษฐานว่าคงเป็นประตูระบายออกเพื่อทำการค้ากับหัวเมืองริมแม่น้ำ
มีเทวบุตรชื่อ "สุรักขิโต"

ประตูสวนดอก (อยู่ทางทิศตะวันตก)
เพราะถือว่าเป็นประตูที่ผ่านไปยัง"สวนดอกไม้"ของพระเจ้ากือนาธรรมิกราช
ต่อมาโปรดให้สร้งพระอารามหลวงขึ้นในบริเวณสวนดอกไม้ เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ เรียกว่า "วัดสวนดอก"
มีเทวบุตรชื่อ "สุรชาโต"

   **ภายหลังสร้างขึ้นอีกสองประตูคือ**
1.ประตูสวนปรุง 
อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้
ใช้สำหรับเอาศพออกไปยังสุสายหายยา
เป็นประตูที่เจาะขึ้นใหม่ราวปี ค.ศ.1411 -1442 สมัยพญาสามฝั่งแกน เพื่อให้พระมารดาเสด็จเข้าออกได้สะดวก เนื่องจากมีพระตำหนักอยู่ที่ "ตำบลสวนแร" ซึ่งอยู่นอกกำแพงเมือง ต่อมาเรียก "สวนปรุง"

2.ประตูช้างม่อย
เดิมเรียก "ประตูศรีภูมิ"
สร้างในสมัยพญาติโกลราช ระว่างปีค.ศ.1442 - 1487 ทรงให้เจาะกำแพงเมืองเป็นช่องประตูเพราะทรงสร้างพระตำหนักอีกแห่งหนึ่งขึ้นใกล้ๆ ต่อมาเรียกว่า "ประตูช้างม่อย"
ปัจจุบันประตูด้านนี้ไม่มีแล้ว

     ป้อมมุมเมือง 4 ป้อมนั้นได้แก่
 
1.แจ่งศรีภูมิ 
เดิมเรียก "แจ่งสรีภูม" หมายถึงศรีแห่งเมือง ถือเป็นจุดแรกเริ่มของการสร้างเมืองเชียงใหม่

2.แจ่งหัวลิน 
หมายถึงจุดเริ่มต้นของการรับน้ำจากห้วยแก้วด้วยการผ่านรางนั้น(ลิน)
ถือว่าเป็นภูมิปัญญาของระบบน้ำประปาแบบโบราณ น้ำที่ส่งมาหล่อเลี้ยงคูเวียงโดยรอบ อีกทั้งนำมาใช้ในเมืองด้วย

3.แจ่งกูเรือง
เดิมเรียก "กู่เฮือง" หมายถึงที่บรรจุอัฐิของหมื่นเรือง ซึ่งเป็นผุ้คุมขุนเครือ โอรสพญามังรายไว้ในเรือนขัง ณ บ้านของหมื่นเรือง

4.แจ่งกะต๊ำ 
เดิมบริณนี้เป็นที่ลุ่่ม
คลองส่งน้ำจากแจ่งหัวลินมาสิ้นสุดที่นี้
คงมีสภาพเป็นหนองปลาชุกชุม คำว่า "กะต๊ำ" เป็นเครื่องมือดักสัตว์ชนิดหนึ่ง

**ด้วยความที่มีคูเวียงล้อมรอบ ประตูเมืองทั้ง 6 จุด เดิมไม่มีทางติดต่อกับภายนอกกำแพง "การข้าม"คูเวียงต้องอาศัย"สะพานเรือก"ที่ทำด้วยไม้ไผ่ปูทับคานข้าม
   ประตูเมืองจะเปิดตั้งแต่ย่ำรุ่งและปิดในเวลาย่ำค่ำเท่านั้น***

เวลา 22. 40 น.
วันพุธที่ 28 สิงหาคม พ.ศ.2556
ผมเอง...PattyFromTheBlock

เรื่องเล่าจากตำรา ตอนหาทางขึ้นลานประทักษิณองค์พระเจดีย์หลวง เมืองเชียงใหม่


ตอนที่แล้วคัดลอกประวัติวัดพระเจดีย์หลวงเอาไว้พอสังเขป สำหรับตอนนี้ว่าด้วยเรื่ององค์พระเจดีย์หลวงล้วนๆ ทั้งเรื่องโครงสร้างองค์พระเจดีย์ด้านใน บันไดอิฐที่ก่อเรียบ ซุ้มด้านทิศตะวันออกทีมีช่องเปิดเอาไว้นิดเดียว และสาเหตุของการพังทลาย คิดว่าครอบคลุมและให้ความกระจ่างสำหรับข้อสงสัยที่เคยมีมาก่อนหน้านี้ได้อย่างดี 

(ภาพที่๑) รูปทรงขององค์พระเจดีย์หลวง เชียงใหม่

เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาต่อจากตอนที่แล้ว เรามาเริ่มด้วยภาพแรก : ลักษณะรูปทรงขององคืพระเจดีย์หลวงกันเลยดีกว่า

บริเวณด้านหน้าโดยรอบประดับรูปช้างโผล่ออกมาครึ่งตัว ปัจจุบันช้างพังเกือบหมดแล้ว ร่องรอยการประดับช้างรอบฐานนี้นับได้ถึง ๒๘ ตัว 

บันไดนาคที่ทอดลงมาจรดพื้นดิน มีนาคเป็นราวบันไดอยู่ทิศละ ๒ ตัว เชิงบันไดด้านล่างทำเป็น"มกร"คาบนาคที่ชูตั้งขึ้นสูง

บันไดมีลักษณะก่ออิฐแบบปูนเรียบ แสดงให้เห็นว่าเจาะจง"มิให้"ใช้ประโยชน์เป็นบันไดทางขึ้น จะมีร่องรอยของบันไดทางขึั้นสู่ระเบียงชั้นบนได้เพียงทางด้านทิศตะวันออกเท่านั้น

ลักษณะรูปทรงทางสถาปัตยกรรมของพระเจดีย์หลวงจากการศึกษาส่วนที่เหลือตั้งแต่ฐานมาถึงมาลัยเถาใต้ระฆัง มีส่วนคล้าย"พระเจดีย์ วัดเชียงมั่น"มากที่สุด เพราะลักษณะรูปทรงของพระเจดีย์หลวงเป็นเจดีย์ช้างล้อมใกล้เคียงกับแบบแผนของพระเจดีย์เชียงมั่น รวมทั้งเปรียบเทียบประวัติการก่อสร้างก็มีระยะเวลาที่ใกล้เคียง คือเจดีย์วัดเชียงมั่น ได้รับการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในสมัยพระเจ้าติโลกราช

(ภาพที่ ๒) แผนผังแสดงอุโมงค์ภายในองค์พระเจดีย์หลวง เมืองเชียงใหม่

ภาพที่สอง : บันไดทางขึ้นและอุโมงค์ภายในองค์พระเจดีย์หลวง 
จากการขุดค้นทางโบราณคดี ได้พบว่า"พระเจดีย์หลวงมีอุโมงค์ทางเข้าที่ด้านหลังของบันไดทั้ง ๔ ทิศ" และอุโมงค์ดังกล่างนี้เป็นช่องทางที่สามารถเดินทะลุเข้าไปภายในองค์เจดีย์ได้ โดยเป็นช่องกว้างขวาง ภายในก่อสลับซับซ้อน"

แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าในการขุดค้นภายในอุโมงค์ครั้งนี้สามารถดำเนินการได้เพียงด้านทิศเหนือเท่านั้น ทั้งนี้เพราะว่าสภาพอุโมงค์เดิมนั้นมีร่องรอยของการก่ออิฐปิดและค้ำยันไว้ โดยมีเจตนาเพื่อจะรับน้ำหนักในส่วนบนไว้มิให้พังทลายลงมา  ซึงในการเนินการขุดค้นอุโมงค์จึงเป็นเรื่องอันตราย จึงสามารถทำได้เพียงด้านเดียว

แต่ผลทีได้ก็เป็นที่น่าพอใจ ทำให้เราได้ทราบว่า "พระเจดีย์หลวงแต่เดิมนั้นมีอุโมงค์ที่สร้างขึ้นเพื่อให้เป็นทางขึ้นอยู่ ๔ ด้าน เพื่อที่จะใช้ให้เป็นทางเดินขึ้นไปสู่ลานประทักษิณบนระเบียงด้านบน ซึ่งก็สอดคล้องกับลักษณะของบันไดองค์พระเจดีย์ทั้งสี่ด้านที่จะก่ออิฐฉาบปูนเรียบ ไม่มีขั้นบันได มีเจตนาทำเป็นบันไดนาคประดับเท่านั้น ยกเว้นทางด้านทิศตะวันออกมีร่องรอยได้รับการแก้ไขทำเป็นขั้นบันได ให้ขึ้นไปสู่ระเบียงชั้นบนได้ในภายหลัง"


ภาพ : แผนผังแสดงอุโมงค์ภายในองค์พระเจดีย์หลวงจากด้านทิศเหนือ

ลักษณะของอุโมงค์ เป็นลักษระสถาปัตยกรรมที่ก่อสร้างครั้งรัชกาล"พระเจ้าติโลกราช" ซึ่งได้ร้บอิทธิพลมาจากสถาปัตยกรรม"แบบพุกาม" มีโบราณสถานที่ได้รับเทคนิคการก่อสร้างที่เป็นอิทธิพลของพุกามอยู่หลายแห่ง เช่น พระเจดีย์เจ็ดยอด วัดเจ็ดยอด และวัดอุโมงคืเถรจันทร์ เป็นต้น

อาจกล่าวได้ว่า"เทคนิคการก่ออิฐวงโค้ง"ซึ่งนิยมใช้ในการก่อสร้างซุ้มประตูและอุโมงค์ ที่สามารถรับน้ำหนักเครื่องบนได้เป็นอย่างดีที่ปรากฏในดินแดนล้านนานั้น เป็น"ความรู้ที่ได้รับมาจากพุกาม"

จากการขุดค้นภายในอุโมงค์จะมีการก่ออิฐอุดช่องอุโมงค์ไว้เป็นระยะๆ ในลักษณะของการค้ำยันเพดานเพื่อรับน้ำหนักไว้ไม่ให้ทรุด เมื่อมีการขุดทะลวงผนังอิฐที่ก่อค้ำยันเป็นระยะๆไป ได้พบว่าอุโมงค์ดังกล่าวมีลักษณะเป็นอุโมงค์หรือช่องทางเดินเป็น ๒ ชั้น ชั้นล่างจะมีลักษณะกว้างใหญ่ สูงประมาณ ๒ เมตร กว้างประมาณ ๒ เมตรเศษ ทำให้เชื่อว่าช่องทางเดินชั้นล่างนี้สามารถทะลุถึงกันได้โดยรอบทั้งสี่ด้าน 

จากอุโมงค์ชั้นล่างจะมีช่องบันไดขึ้นไปสู่อุโมงค์ชั้นที่สอง อุโมงค์ชั้นที่สองนี้จะมีความสูงใกล้เคียงกับชั้นแรก แต่มีความแคบเพียงหนึ่งเมตรเศษเท่านั้น ที่ส่วนปลายช่องอุโมงค์ชั้นบนเฉพาะด้านทิศเหนือที่ได้มีการขุดสำรวจ มีลักษณะเป็นบันไดทอดขึ้นไปสู่ข้างบนได้ แต่ในส่วนปลายถูกก่ออิฐปิดตัน ทำให้ไม่มีช่องทางออกไปสู่ระเบียงชั้นบนขององค์พระธาตุเจดีย์ได้


จากหลักฐานนี้ทำให้เชื่อว่า วัตถุประสงค์แรกของการก่อสร้างพระเจดีย์หลวงในร้ัชกาลของพระเจ้าติโลกราชนั้น คงมีมีการสร้างอุโมงค์เพื่อให้เป็นทางขึ้นสู่ระเบียงหรือลานประทักษิณด้านบน ตามแบบแผนการก่อนสร้างโบราณสถานขนาดใหญ่ใน"อาณาจักรพุกาม" 

แต่ความรู้ในทางเทคนิคการก่ออิฐวงโค้ง ที่ทำอุโมงค์ภายใต้ฐานเจดีย์ยังเป็นของใหม่ของช่างชาวล้านนา อีกทั้งรูปทรงของพระเจดีย์มีความแตกต่างไปจากโบราณสถานของพุกาม  จึงปรากฏว่าอุโมงค์ที่จะสร้างสำหรับเป็นทางขึันไปสู่ระเบียงนั้น จะมีตำแหน่งอยู่ภายใต้เรือนธาตุขององค์เจดีย์ที่จะก่อสูงขึ้นไป จึงทำให้น้ำหนักอันมหาศาลที่อยู่ด้านบนในระหว่างการก่อสร้างกดทับลงมาจนทำให้อุโมงค์ดังกล่าวรับน้ำหนักไม่ไหว เกิดปัญหาการทรุดตัวและแตกร้าว การที่จะใช้อุโมงค์เป็นทางขึ้นคงทำไม่ได้ เนื่องจากอาจเป็นอันตราย จึงได้มีการก่ออิฐค้ำยันภายในอุโมงค์ไว้เป็นระยะๆ เพื่อป้องกันการทรุดตัว ด้วยเหตุนี้ปลายอุโมงค์ทางขึ้นไปสู่ชั้นบนจึงถูกก่ออิฐปิดตัน รวมทั้งมีการก่ออิฐปิดปากอุโมงค์ที่เชิงบันได

ภาพ : บันไดนาคด้านทิศตะวันออก ในสภาพหลังการขุดค้นทางโบราณคดี

เมื่อทางขึ้นคืออุโมงค์ใช้ไม่ได้ จึงจำเป็นต้องมีการก่ออิฐทำขั้นบันไดทางขึ้นทางบันไดนาคเฉพาะด้านทิศตะวันออกด้านเดียว ส่วนด้านอื่นๆยังคงอยู่ในสภาพเดิมคือก่ออิฐเรียบ ไม่มีขั้นและฉาบปูน ด้วยเหตุนี้เราจึงได้หลักฐานว่า "ที่บันไดนาคด้านตะวันออก อิฐที่ก่อเป็นขั้นบันไดจะก่อทับอยู่บนแนวอิฐที่ก่อเรียบแบบเดิมดังด้านอื่นๆ"


ส่วนกรณีลักษณะซุ้มทางด้านทิศตะวันออกที่มีการปิดทึบช่วงซุ้มตั้งแต่ด้านล่างยันถึงส่วนบน และเปิดเป็นช่้องเล็กๆตรงส่วนฐานด้านล่างไว้ เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรผู้รับผิดชอบการบูรณะพระเจดีย์หลวงได้ให้คำอธิบายถึงเหตุผลของการก่ออิฐปิดซุ้มทิศตะวันออกไว้ว่า
"เนื่องจากซุ้มทางทิศตะวันออกนี้เคยเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตหรือพุทธมหาณีรัตนปฏิมากร จึงปรากฏว่าส่วนฐานชุกชีด้านหน้าจะมีส่วนยื่นออกมา ซึงเชื่อกันว่าเป็นฐานสำหรับประดิษฐานพระแก้วมรกต การก่ออิฐปิดด้านหน้าซุ้มด้านนี้และทำช่องที่มีประตูเปิดปิดนั้น เพื่อเป็นการป้องกันรักษาองค์พระแก้วมรกต ดังนั้นในการบูรณะของกรมศิลปากรจึงจำเป็นต้องก่ออิฐไว้เหมือนเดิม"

แต่ผู้เขียนคืออาจารย์สุรพลเชื่อว่า "เป็นสิ่งที่กระทำขึ้นใจภายหลัง หลังจากที่พระเจดีย์หลวงได้พังทลายลงมาแล้ว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการค้ำยันและรับน้ำหนักของอิฐส่วนที่เหลืออยู่ด้านบน เพื่อมิให้ซุ้มด้านนี้ทลายลงมาอีก แต่การที่เปิดเป็นช่องไว้ก็เนื่องจากภายในซุ้มดังกล่าวมีพระพุทธรูปปูนปั้นประดิษฐานอยู่ จึงเปิดช่องดังกล่าวเพื่อสำหรับการสักการบูเชาด้วย"

"เมื่อได้มีการตรวจสอบที่ผนังของซุ้มจรนัมด้านทิศตะวันออกพบว่าที่ผนังด้านในบางส่วนและส่วนที่ก่ออิฐปิดทับนั้น มีร่องรายการทารักปิดทองสองชั้น หลักฐานดังกว่าแสดงให้เห็นว่าซุ้มจรนัมด้านทิศตะวันออกนี้ จะต้องเปิดกว้างโดยไม่มีอะไรมาปิดอยู่ตลอดเวลา และการก่อปิดซุ้มดังที่เห็นในปัจจุบันเป็นการกระทำภายหลัง หลังจากที่เจดีย์หลวงได้พังทลายลงมาแล้ว"

ดังนั้นการบูรณะพระเจดีย์หลวงโดยคงปิดซุ้มทิศตะวันออกไว้ดังเดิมโดยให้เหตุผลว่าเป็นแบบแผนที่มีมาแต่เดิม และทำไว้เพื่อสำหรับเป็นคูหาประดิษฐานพระแก้วมรกตนั้นจึงเป็น"สิ่งที่ไม่ถูกต้อง" และเป็นการให้ความรู้ที่ผิดๆแก่สาธารณชน


ส่วนสาเหตุที่องค์พระเจดีย์หลวงพังทลายลงมา นอกจากจะเกิดแผ่นดินไหวในปีพ.ศ. ๒๐๘๘ / ค.ศ.1512 ครั้งแผ่นดินพระนางเจ้ามหาเทวีจิรประภาแล้ว อีกสาเหตุหลักคือโครงสร้างภายในขององค์พระเจดีย์หลวงไม่แข็งแรง เนื่องจากมีโพรงหรืออุโมงค์ ซึงมีปัญหาการทรุดร้าวอยู่แล้วมาตั้งแต่แรกสร้ัา่ง อีกทั้งดูเหมือนว่าการพังทลายขององค์พระธาตุเจดีย์หลวงมิได้พังทลายมาแค่ครั้งเดียว แต่ได้พบว่ามีการพังทลายลงมาหลายครั้ง เนื่องจากโครงสร้างภายในไม่มั่นคง

หมายเหตุ : โครงการบูรณะพระเจดีย์หลวง เมืองเชียงใหม่ เกิดขึ้นระหว่างปีพ.ศ.๒๕๓๓ - ๒๕๓๕ / ค.ศ.1990-1992

....ขอให้มีความสุขทุกท่านหลังจากอ่านจบนะจ๊ะ....

ภาพประกอบและคัดลอกข้อมูลจากหนังสือ"แผ่นดินล้านนา"
ผู้เขียน อาจาร์สุรพล ดำริห์กุล คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ

เวลา 07.30 น.
วันพุธที่ 28 สิงหาคม พ.ศ.2556
ผมเอง...PattyFromTheBlock



เรื่องเล่าจากตำรา ตอนรู้ประวัติวัดเจดีย์หลวง ก่อนจะหาทางขึ้นพระเจดีย์ (ตอนแรก)


พระเจดีย์หลวง ค่ำวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ.2556 

ใครที่เคยไปเที่ยวเชียงใหม่น้อยคนที่จะไม่แวะไปเที่ยววัด โดยเฉพาะคนที่ชอบถ่ายรูปวัดในเชียงใหม่มีให้เลือกมากมาย

เชียงใหม่มีวัดน่าสนใจมากมาย อันดับหนึ่งที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวงคือวัดพระธาตุดอยสุเทพ ส่วนอันดับที่เหลือก็สุดแท้แต่จะเลือกเพราะมีมากมายนับไม่ถ้วน

ในเขตกำแพงเมืองเก่าก็มีหลายวัดที่สวยงาม แต่วันนี้ผมจะมาเขียนถึงวัดเจดีย์หลวง

วัดเจดีย์หลวง หลายคนคงเคยไปมาแล้วและคงสงสัยว่าทางขึ้นเจดีย์อยู่ตรงไหน ทำไมถึงทำขั้นบันไดเพียงด้านเดียว อีกสามด้านมีเพียงนาคปูนปั้นประดับราวบันไดแต่ไม่มีขั้นบันได เรียบเป็นบันไดลื่นแล้วจะขึ้นไปยังไง

ผมก็เคยสงสัยและไม่ทราบมาก่อนเหมือนกัน หาคำตอบอยู่ตั้งนาน ก็ไม่เจอ จนในที่สุดมาอ่านเจอจากหนังสือเล่มหนึ่ง พออ่านเจอแล้วรู้สึกตืนเต้นและทึ่งกับการก่อสร้างจริงๆ บ่องตง!

ผมไม่อยากให้ความรู้ที่เป็นเพียงตัวอักษรจมอยู่ในหนังสือรอให้คนมาอ่านเจอ แต่ผมจะทำให้ตัวอักษรเหล่านั้นให้ได้รับการบอกเล่าและบอกต่อๆกันไป


พระเจดีย์หลวง ถ่ายเมือเวลา 17.00 น. วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ.2556

ก่อนอื่นเรามาเริ่มต้นด้วย"ประวัติพระเจดีย์หลวง"กันก่อนดีกว่าเนอะ!


พระเจดีย์หลวงเป็นโบราณสถานที่มี "ขนาดใหญ่ทีสุด" ในภาคเหนือ ตั้งอยู่ในบริเวณเกือบกึ่งกลางเมืองเชียงใหม่โบราณ

"สร้าง"ขึ้นครั้งแรกในรัชกาลของพระเจ้าแสนเมืองมา (พ.ศ.1928-1944 / ค.ศ.1385-1401) โดยสร้างครอบทับเจดีย์องค์เล็กที่มีมาแต่เดิม เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้พระเจ้ากือนา"พระราชบิดา" แต่สร้างไม่เสร็จ เสด็จสวรรคตก่อน

ต่อมาพระนางเจ้าติโลกจุฑาราชเทวี "พระมเหสีของพระเจ้าแสนเมืองมา" ก่อสร้างต่อ จนแล้ว"เสร็จ" ในรัชกาล "พระเจ้าสามฝั่งแกน" โดยใช้เวลาก่อสร้างถึง 5 ปี (พ.ศ.1950-1954 / ค.ศ.1407-1411)ตัวพระเจดีย์มีความสูงถึง 39 วา หรือ 78 เมตร นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปปูนปั้นในโขงทั้งสี่ด้าน มีรูปนาคปั้นเต็มตัวและหัวรวม 5 หัว และรูปปั้นราชสีห์ 4 ตัวตั้งอยู่ที่มุมทั้งสี่

"พระเจ้าติโลกราช" โปรดให้หมื่นด้ามพร้าคตเป็นนายช่างใหญ่ดำเนินการ"ปฏิสังขรณ์"พระเจดีย์หลวงตั้งแต่ประมาณ พ.ศ.2021 / ค.ศ.1478 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี จึงแล้วเสร็จ โดยก่อนเสริมฐานกว้างออกมาถึง 35 วา หรือ 70 เมตร ทรงบรรจุ"พระบรมสารีริกธาตุ"ไว้ในเจดีย์ ส่วนความสูงขององค์พระเจดีย์หลวง ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่าสูงเท่าไหร่ “ตำนานวัดเจดีย์หลวง” กล่าวว่าสูง 50 วา หรือ 100 เมตร แต่หนังสือชินกาลมาลีปกรณ์และพงศาวดารโยนก กล่าวว่า “สูง 45 วา หรือ 90 เมตร”


ลักษณะรูปทรงขององค์พระเจดีย์หลวง เมืองเชียงใหม่ (ภาพประกอบจากหนังสือแผ่นดินล้านนา) 

ในรัชกาล"พระเจ้ายอดเชียงราย"ได้ปิดทองภายในซุ้มจรนัมของพระเจดีย์หลวงทั้งสี่ด้าน

ในรัชสมัย"พระเจ้าเมืองแก้ว" เมื่อพ.ศ.2046 / ค.ศ.1503 ได้โปรดให้สร้างหอพระแก้วและอัญเชิญพระแก้วมรกตลงมาประดิษฐาน สร้างมหาวิหาร ส่วนการบูรณะพระเจดีย์หลวงได้ดำเนินการเพียงเล็กน้อย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการ"ซ่อม"ทองจังโกและ"ปิดทอง"องค์พระเจดีย์

ในที่สุดเกิด"แผ่นดินไหว"ครั้งใหญ่ในปีพ.ศ.2088 / ค.ศ.1545 รัชกาลพระนางเจ้ามหาเทวีจิรประภา ยอดพระเจดีย์หลวงก็พังทลายลงมา เหลือให้เห็นดังภาพปัจจุบัน


ภาพประกอบ : PattyFromTheBlock

ขอบคุณ : หนังสือ "แผ่นดินล้านนา" สำนักพิมพ์เมืองโบราณ
โดยอาจารย์สรุพล ดำริห์กุล  คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เวลา 21.15 น.
วันอาทิตย์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ.2556
ผมเอง...PattyFromTheBlock



เรื่องเล่าจากตำรา ตอนล้านนายุค"เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง"

อาณาจักรล้านนายุค"เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง" เคยเข้าใจและคิดว่าหมายถึงเฉพาะที่เมืองเชียงใหม่ที่เดี่ยว แต่พอมาอ่านหนังสือก็ทำให้เข้าใจว่า ล้านนายุคคนั้นแทบจะร้างทั้งอาณาจักรจริงๆ ต้องเกณฑ์คน ต้องโยกย้ายผู้คนจากเมืองอื่นๆเข้ามาเพื่อสร้างบ้านฟื้นฟูเมือง

คำพูดที่ว่า "กรุงเทพไม่ใช่ประเทศไทย" น่าจะเปรียบได้กับกรณีนี้คิอ "เชียงใหม่ก็น่าจะไม่ใช่อาณาจักรล้านนา"เช่นกัน ไม่รู้มันเกี่ยวกันได้อย่างไร แต่สำหรับผมมันให้อารมณ์คล้ายๆกัน!






เหตุการณ์กอบกู้เอกราชคืนจากพม่าได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.2314 /ค.ศ.1771 (สี่ปีหลังกรุงศรีอยุธยาแตก) พญาจ่าบ้าบุญมา ขุนนางที่เชียงใหม่กับพระยากาวิละ ลูกเจ้าฟ้าเมืองลำปาง ได้ร่วมมือกันต่อสู้กับพม่าโดยเข้าสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้ากรุงธนบุรี เพื่อขอความช่วยเหลือให้ยกกองทัพไปช่วยขับไล่พม่าออกจากแผ่นดินล้านนา ครั้งนั้นพม่ายึดครองเมืองเชียงใหม่อยู่

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีพร้อมด้วยพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ ยกกองทัพหลวงขึ้นมาทางเมืองนครลำปางและเข้าตีเมืองเชียงใหม่ได้ใน พ.ศ.2317 /ค.ศ.1774 หลังจากนั้นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้พระราชทานแต่งตั้ง"พระยาจ่าบ้านบุญมาเป็น...เจ้ามืองเชียงใหม่"และให้ "พระยากาวิละเป็น...เจ้ามืองนครลำปาง"

กองทัพพม่าที่แตกหนีจากเมืองเชียงใหม่ไปได้เพียงหนึ่งเดือนก็ยกรี้พลจำนวนมากมาล้อมเมืองเชียงใหม่อีกในปี พ.ศ.2318 /ค.ศ.1775 ขณะนั้นไพร่พลของเมืองเชียงใหม่มีจำนวนน้อย ได้กำลังจากนครลำปางส่วนหนึ่งมาช่วยสู้รบกับพม่า

พม่าล้อมเมืองเชียงใหม่อยู่ 8 เดือนจนเสบียงหมด พอดีกองทัพไทยมาถึงช่วยตีทัพพม่าจนแต่พ่ายไป ครั้งนั้นเมืองเชียงใหม่ที่เคยเจริญุร่งเรืองก็ถึงกาลเสื่อมโทรมสุดขีด พลเมืองแตกฉานหนีไปอยู่ที่อื่น พระยาจ่าบ้านได้ "ทิ้งเมืองเชียงใหม่" ไปอยู่ "เมืองนครลำปาง" ระยะหนึ่งแล้วกลับมาตั้งอยู่ที่ตำบลวังพร้าว

ดังนั้นเมืองเชียงใหม่จึงกลายเป็นเมืองร้างไปเป็นเวลานานถึง 21 ปี (ค.ศ.1775-1796)

ขณะเดียวกันบ้นเมืองต่างๆของล้านนาในขณะนั้นก็มีสภาพไม่ต่างไปจากเมืองเชียงใหม่ เช่น

1.นครลำปาง ขณะที่พระยากาวิละเป็นเจ้าเมือง ในพ.ศ.2318 /ค.ศ.1775 พม่ายกกองทัพมาตีนครลำปาง ไพร่พลเมืองนครลำปางมีน้อยไม่อาจต้านทานได้ ก็ทิ้งเมืองพากันหนีไปอยู่สวรรรคโลกเป็นเวลา 1 ปี แล้วจึงกลับมาฟื้นฟูเมืองใหม่

2.เมืองลำพูน ในขณะที่เมืองเชียงใหม่ถูกปล่อยทิ้งร้างเนื่องจากไม่มีไพร่พลและเสบียงเพียงพอที่จะรักษาเมืองไว้ได้ พระยาจ่าบ้าน เจ้าเมืองเชียงใหม่ได้อพยพมาอยู่ในเมืองลำพูน ต่อมา พ.ศ.2322 /ค.ศ.1779 กองทัพพม่าจากเมืองเชียงแสนและเชียงรายได้มาตีเมืองลำพูนแต่ พระยาจ่าบ้านจึงทิ้งเมืองทำให้เมืองลำพูนกลายเป็นเมืองร้าง

3.เมืองน่าน ในพ.ศ.2321 /ค.ศ.1778 กองทัพพม่าจากเชียงแสนได้ไปตีเมืองน่านและกวาดต้อนผู้คนจากเมืองน่านไปไว้ที่เชียงแสน จึงทำให้เมืองน่านร้างไปเป็นเวลาถึง 23 ปี

4.เมืองพะเยา ในพ.ศ.2330 /ค.ศ.1787 พม่ายกกองทัพใหญ่มาตีหัวเมืองฝ่ายเหนือต่างๆ เช่น เมืองฝาง เชียงราย เชียงแสนและพะเยา ทำให้ประชาชนเจ้าเมืองต่างๆเหล่านั้นตกใจแตกตื่นพากันอพยพครอบครัวหนีไปอยู่ที่อื่น โดยเฉพาะชาวเมืองพะเยาได้อพยพไปอยู่เมืองนครลำปางจึงทำให้เมืองพะเยากลายเป็นเมืองร้างถึง 56 ปี

5.เมืองเชียงรายและเชียงแสน  ในขณะที่พม่าใช้เมืองเชียงแสนเป็นฐานกำลังในการยกทัพไปตีเมืองต่างๆ ดังนั้น ในพ.ศ.2347 /ค.ศ.1804 พระเจ้ากาวิละเจ้าเมืองเชียงใหม่จึงได้ยกกองทัพไปตีเมืองเชียงแสนได้สำเร็จ ได้เผาทำลายเมืองเพื่อมิให้เป็นที่ซ่องสุมไพร่พลของพม่าอีกต่อไป และได้กวาดต้อนครัวเรือนพลเมืองของเมืองเชียงแสน ตลอดจนหัวเมืองระยะทางต่างๆ รวมทั้งเชียงรายไปไว้ยังเมืองอื่นๆ ของล้านนา เช่น เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ น่าน และส่งไปให้กรุงเทพฯอีกด้วย ดังนันเมืองเชียงแสนและเชียงรายจึงร้างเป็นเวลานาน



ต่อมาเมื่อบ้านเมืองเริ่มสงบเรียบร้อย การฟื้นฟูบ้านเมืองจึงได่้เริ่มเกิดขึ้นโดยมีเมืองเชียงใหม่เป็นจุดเริ่มต้น ในการฟื้นฟูเชียงใหม่เริ่มต้นในปี พ.ศ.2339 /ค.ศ.1796 เมื่อพระยากาวิละได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ จากรัชกาลที่1 ให้เป็นเจ้าเมืองเชียงใหมแล้ว ก็แบ่งไพร่พลจากเมืองนครลำปางมาเป็นกำลังสำคัญในการบูรณะฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่แต่กำลังมีไม่เพียงพอ

ดังนั้น พระยากาวิละจึงได้รวบรวมไพร่พลเข้ามาเป็นพลเมืองของเชียงใหม่ โดยกวาดต้อนพลเมืองจำนวนหนึ่งที่หลบหนีอยู่ตามป่าเขาให้กลับเข้าสู่เมืองและยกกองทัพไปตีบ้านเมืองต่างๆในแคว้นสิบสองปันนาและบ้านเมืองในแถบลุ่มแม่น้ำสาละวินซึ่งเป็นชนหลายเผ่าพันธุ์ เช่น ไทยใหญ่ ลื้อ เขิน ยางและอื่นๆ เข้ามาเป็นพลเมืองของเชียงใหม่

ซึงเหตุการณ์ของการฟืนฟูเมืองเชียงใหม่ครั้งนี้เป็นยุคที่เรียกว่า "เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง"

ส่วนเมืองอืนๆก็ได้ร้บการฟื้นฟูในเวลาต่อมาตามลำดับ เช่น
1.เมืองน่าน ในพ.ศ.2331 /ค.ศ.1788 รัชกาลที่1 ทรงโปรดให้ "เจ้าอัตถวรปัญโญ" เป็นเจ้าผู้ครองนครน่าน ขณะนั้นน่านยังรกร้างว่างเปล่า เจ้าอัตถวรปัญโญจึงนำครอบครัวชาวน่านและชาวเทิงตั้งอยู่ที่ "บ้านถึด" ในเขตเมืองน่าน จนถึงปี พ.ศ.2343 /ค.ศ.1800 จึงได้ย้ายมาอยู่เมืองน่านเก่าคือที่ตั้งเมืองน่านในปัจจุบัน

2.เมืองลำพูน ได้รับการฟื้นฟูขึ้นใหม่ใน พ.ศ.2348 /ค.ศ.1805 โดยพระยากาวิละเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ได้มอบหมายให้ "เจ้ารัตนราชวังหลัง" เป็นเจ้าเมือง นำบริเวารไพร่พลจากเมืองเชียงใหม่และจากเมืองนครลำปางพร้อมผู้คนพลเมืองที่กวาดต้อนมาจาก"เมืองยอง"ให้มาตั้งบ้านเรือนในเมืองลำพูน

3.เมืองเชียงราย ได้รับการฟื้นฟูในปี พ.ศ.2386 /ค.ศ.1843 โดยครั้งนั้น"เจ้ามโหตรประเทศ" เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ ๕ ได้มอบหมายให้ "เจ้าธรรมลังกา"เป็นเจ้าเมืองเชียงราย นำไพร่พลซึ่งประกอบไปด้วยชาวไทยใหญ่ ไทยเขินจากเมืองเชียงตุง เมืองพยาก เมืองเลย และเมืองสาด จำนวนพันครอบครัวเศษไปตั้งถิ่นฐานฟื้นฟูเมืองเชียงราย

4.เมืองพะเยา ได้รับการฟื้นฟูในช่วงเวลาเดียวกับเมืองเชียงรายคือปี พ.ศ.2386 /ค.ศ.1843 รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้"นายพุทธวงศ์" น้องคนที่หนึ่งของพระยานครลำปางน้อยอินทร์ เป็น"ที่พระยาประเทศอุดรทิศ" เจ้าผู้ครองเมืองพะเยา และให้แบ่งครอบครัวชาวเมืองนครลำปางส่วนหนึ่งกับลูกหลานของขาวเมืองพะเยาที่อพยพหนีทัพพม่าไปอยู่เมืองนครลำปางเมื่อ 56 ปีที่ผ่านมา ให้กลับไปตั้งถิ่นฐานฟื้นฟูเมืองพะเยา

5.เมืองเชียงแสน ได้รับการจัดตั้งให้เป็นเมืองอีกครั้งในปี พ.ศ.2417 /ค.ศ.1874 โดยรัชกาลที่ 5 โปรดให้"เจ้าอินทวิไชย"บุตรของเจ้าบุญมาเจ้าผู้ครองนครลำพูน เป็น"พระยาราชเดชดำรง"เจ้าเมืองเชียงแสน ให้นำราษฏรชาวเมืองลำพูนและเชียงใหม่ประมาณ 1,500 ครอบครัวไปตั้งถิ่นฐานในเมืองเชียงแสน

ช่วงเวลาที่เมืองเชียงใหม่ร้างเป็นเวลาถึง 21 ปี ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ได้พรรณาถึงสภาพของเมืองเชียงใหม่ในเวลานั้นว่า

"เสื่อมโทรมยิ่งนัก ภายในเมืองมีต้นไม้ ป่าหญ้า เถาวัลย์ ขึ้นปกคลุม เป็นที่อยู่อาศัยอขงสัตว์ใหญ่น้อยทั้งหลาย เป็นต้นว่า เสือ หมี แร่ด ช้าง กระทิง กวาง และอื่นๆ วัดวาอาราม โบสถ์ วิหาร เจดีย์ในบวรพระพุทธศาสนา ตลอดจนรั้วเวียงวังทั้งหลายเสียหายพังทลายเป็นอันมาก..."


นี้ละครับคือ"เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง"ของอาณาจักรล้านนา มิใช่ที่เชียงใหม่เพียงที่เดียว แต่น่าจะทั้งอาณาจักรล้านนาเลยทีเดียว

หมายเหตุ : ช่วงเวลาที่อาณาจักรล้านนาร้างคือประมาณค.ศ.1775 - 1804 / ช่วงเวลาที่อาณาจักรเริ่มกลับมาฟื้นฟูอีกรอบคือระหว่างปีค.ศ.1796 - 1874

ภาพประกอบ :
http://bit.ly/1f7sTim

คัดลอกจากหนังสือ"แผ่นดินล้านนา" 
โดยอาจารย์สรุพล ดำริห์กุล คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ

เวลา 23.58 น.
วันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ.2556
ผมเอง...PattyFromTheBlock

เรื่องเล่าจากแก้วกาแฟ ตอนพระอุปคุตกับการใส่บาตรตอนเที่ยงคืน




พระอุปคุตหรือพระบัวเข็ม...
ในวันพระ ทุกคืนวันพุธ ขึ้น 15 ค่ำ ทำไมต้องใส่บาตรพระตอนกลางคืน?

พระอุปคุตท่านจำพรรษาอยู่ใต้ทะเล หรือ สะดือทะเล นานๆจะขึ้นมาสู่โลกครั้งหนึ่ง ชาวไทยภาคเหนือ อีสาน รวมถึงพม่า จะคอยใส่บาตรท่าน ในคืนวันพุธที่ตรงกับวันเพ็ญ ๑๕ ค่ำ เชื่อกันว่าท่านบิณฑบาตกลางคืน

พระอุปคุตปราบพญามาร เราอาจจะเคยได้ยินเรื่องพญามารเนรมิตร่างเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้พระราชา พระสงฆ์และประชาชนได้เห็นเป็นครั้งแรก ตามคำร้องขอของพระอุปคุต


พระบัวเข็ม

เราอาจจะเคยได้ยินเรื่องเล่าว่าชาวร่างกุ้งคนหนึ่ง มีโอกาสได้ใส่บาตรพระอุปคุตตอนกลางคืนแล้วทำให้เขากลายเป็นเศรษฐี ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาชาวร่างกุ้งก็เฝ้าคอยใส่บาตรพระอุปคุต

นั้นคือเหตุผลที่ทำไมชาวพม่า ชาวไทยภาคเหนือและภาคอีสาน นับถือพระอุปคุตมาก เพราะท่านสามารถบันดาลผู้ตักบาตรให้เป็นเศรษฐีทันตาเห็นนั้นเอง!

ส่วนประวัติของท่าน
"พระอุปคุต"เป็นบุตรของของเศรษฐีผู้มั่งคั่ง ท่านมีพี่น้องเป็นชายล้วนสามคน ครั้งหนึ่งพ่อของท่านเคยสัญญากับพระเถระรูปหนึ่งว่า"ถ้าได้ลูกชายจะให้บวช" พอได้ลูกชายคนแรกมาก็ไม่ให้บวช ได้ลูกชายคนที่สองมาก็ไม่ให้บวชอีก จนถึงคนสุดท้องคืออุปคุต ท่านจึงยอมตัดใจให้บวชและสุดท้ายก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์  เป็นพระอุปคุตผู้สิ้นอาสวกิเลส \\(*0*)//

เพิ่มเติมอีกสักนิด พระอุปคุตมี ๒ แบบใหญ่ๆคือ
๑.แบบมารวิชัย ก้มหน้า มีหมุด หรือ เข็มปักตามส่วนต่างๆ
๒.แบบนั่งแหงนหน้า มือหนึ่งทำท่า"จกบาตร" (ล้วงบาตร) เรียกว่า "พระอุปคุตจกบาตรพิชิตมาร"

พระอุปคุตจกบาตรพิชิตมาร


จากเรื่องราวทั้งหมดที่เล่าคือสาเหตุว่าทำไมพี่น้องชาวภาคเหนือจึงเตรียมอาหารใส่บาตรพระตอนเที่ยงคืนเมื่อวันพุธที่ 21 สิวหาคมที่ผ่านมา เพราะตรงกับวันพุธและเป็นวันพระ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ยังไงละคร้าบบบ!

ภาพประกอบ
http://www.watphadarabhirom.com/index.php?name=page&id=64
http://www.9pha.com/?cid=1290618

ขอบคุณข้อมูลจาก
หนังสือ"สิบล่อหั่นชีวิตพิศดาร"
โดยอาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต


เวลา 09.25 น.
วันพฤหัสบดีที่ 22 สิงหาคม พ.ศ.2556
ผมเอง...PattyFromTheBlock

พระแก้วดอนเต้ามาจากไหนกันแน่ ระหว่างผลบะเต้าหรือมาจากเชียงแสน

วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม จ.ลำปาง กับตำนานนางสุชาดาและที่มาขององค์พระแก้วขาว ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดพระธาตุลำปางหลวง

สงสัยกันไหมว่า
1.ถ้าตัดเรื่องตำนานทิ้ง พระแก้วดอนเต้าสร้างสมัยไหน
2.ทำไมองค์พระแก้วขาวจึงมาอยู่ที่วัดพระแก้วดอนเต้า
3.ทำไมพระแก้วตอนเต้าจึงย้ายไปอยู่ที่วัดพระธาตุลำปางหลวง

ก่อนที่จะตอบข้อสงสัยทั้งสามข้อเรามาเริ่มกันด้วยตำนานนางสุชาดาก่อนดีกว่า เพื่อที่ทุกคนจะได้เข้าใจและเห็นภาพเดียวกัน เนอะ!

ในตำนานมีตัวละครอยู่ไม่กี่ตัว...
"นางสุขาดา นางฟ้านางสวรรค์ที่เกิดมาเป็นมนุษย์และเจ้าของไร่แตงโม ชอบทุำบุญ"
"พระมหาเถระเจ้ามีความประสงค์อยากได้วัตถุดิบคือไม้แก่นจันทร์มาแกะสลักพระพุทธรูป"
"พญานาคทราบเรื่องจึงเนรมิตรหยกในผลแตงโม และนางสุขาดาก็นำผลแตงโมนี้แหละไปถวายพระคุณเจ้า"
"พระอินทร์ที่จำแลงเปลงร่างลงมาแกะสลักพระแก้วจากผลแตงโม"
"เจ้าเมืองที่หูเบาหลงเชื่อเสนาบดีใจคด คิดว่านางสุชาดามีอะไรกับพระคุณเจ้า จึงสั่งประหารนาง สุดท้ายทราบความจริง ช้ำใจและอกแตกตายในที่สุด"

...แตงโม ภาษาเหนือคือบะเต้า เพราะฉะนั้นพระแก้วดอนเต้าคือพระแก้วดอนแตงโมนั้นเอง....

วัดพระแก้วดอนเต้า คือวัดที่ประดิษฐานสองพระแก้วคือพระแก้วมรกตและพระแก้วดอนเต้า ไม่ธรรมดานะเนี่ย บ่องตง!!



ตำนานจบลงไป แต่เรื่องที่มาของพระแก้วดอนเต้ามีสองแนวความคิดคือ
1.สันนิษฐานแรกเป็นของ"นายแสน ธรรมยศ นักหนังสือพิมพ์และนักวิชาการท้องถิ่น" เชื่อว่าเป็นการสร้างขึ้นมาเพื่อชดเชยองค์พระแก้วมรกตที่ถูกอัญเชิญไปเชียงใหม่และไม่ให้ชาวลำปางเสียหน้าต่อชาวเชียงใหม่

พระแก้วถูกอัญเชิญไปเชียงใหม่ปีพ.ศ.2011 หรือ ค.ศ.1468 ก็แสดงว่าพระแก้วดอนเต้าถูกสร้างไม่เก่าไปกว่านี้อย่างแน่นอน

2.สันนิษฐานที่สองของ"นายศักดิ์ รัตนชัย" เชื่อว่าพระแก้วดอนเต้ามาจากเชียงแสน พระพุทธรูปเป็นศิลปะเชียงแสนรุ่นหลัง ปางสมาธิราบ มีชายสังฆาฏิยาวรูปเฉก

ผมขออนุญาตยกข้อความในหนังสือ
"ในช่วงพ.ศ.1929 หรือ ค.ศ.1386 รัชสมัยพระเจ้าแสนเมืองมา กษัตริย์แห่งล้านนา มีหลักฐานอยู่ในประชุมพงศาวดารที่ ๖๑ ระบุว่ามีพระแก้วปรากฏอยู่ในเมืองเชียงแสนอีกองค์หนึ่ง กล่าวคือมีพระมหาเถระชือ ศิริวังโส นำพระพุทธรูป ๒ องค์ คือพระแก้วพระคำ และพระบรมธาตุ ไปประดิษฐานไว้ ณ วัดบนเกาะดอนแท่น เมืองเชียยงแสน ต่อมานามของพระแก้วองค์นี้ไม่ปรากฏอีกเลย จนกระทั่งกองทัพของพระเจ้ากาวิละ พระยานครลำปาง และเจ้าฟ้าเมืองน่าน ได้ยกกองทัพตีเมืองเชียงแสนแตกใน พ.ศ.2346 หรือ ค.ศ.1803 เมืองเชียงแสนถูกเผาทำลายและผู้คนถูกกวาดต้อนไปอยู่ในที่ต่างๆ เช่น เชียงใหม่ ลำปาง น่าน เวียงจันทร์ กรุงเทพฯ ตำบลเสาไห้ จ.สระบุรี และตำบลคูบัว จ.ราชบุรี เป็นต้น

ครัวเมืองเชียงแสน ส่วนหนึ่งถูกกวาดต้อนมาที่นครลำปาง ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ในเขตตำบลเวียงเหนือ ซึ่งก็คือโดยรอบบริเวณที่ตั้งวัดพระแก้วดอนเต้าในปัจจุบันนี้"

"การเคลื่อนย้ายอพยพของชาวเชียงแสนเข้ามาอยู่ในนครลำปาง ได้ทำให้ตำนานเกี่ยวกับผู้คนในลุ่มน้ำกกที่ชาวเชียงแสนนำเข้ามาได้เข้ามาปะปน และทำให้เกิดความเข้าใจไขว้เขวว่าเป็นเรื่องราวของนครลำปางไปหมด เช่น ชื่อของเมืองกุกกุตตนครที่ปรากฏอยู่ในตำนานพระแก้วดอนเต้านั้น น่าจะเป็นชื่อที่เกี่ยวกับกุกกุตนทีซึ่งก็คือลุ่มน้ำกกนั่นเอง"

ด้วยเหตุนี้พระแก้วดอนเต้านครลำปางองค์นี้น่าจะเป็นองค์เดียวกันกับพระแก้วของเมืองเชียงแสนตามที่กล่าวมาแล้ว ทั้งนี้อาจจะถูกอัญเชิญมาสู่นครลำปางพร้อมกับชาวเมืองเชียงแสนที่ถูกกวาดต้อนมาครั้งนั้น

(ผมไม่แน่ใจว่าเป็นคำเดียวกันหรือว่าคนละคำ แต่อ่านออกเสียงเหมือนกันคือ  กุกกุฏนคร ที่แปลว่า เมืองไก่)

พระแก้วดอนเต้า

"ในเวลาต่อมาเมืองกุกกตตนครเกิดความอดอยากกันดาร ชาวเมืองอพยพหนีไปจนบานเมืองร้าง พระมหาเถรเจ้าตนนั้นก็ไปอยู่ลัมพกุุกกุตหรือเมืองลัมพกัปปะ คือที่ตั้งวัดพระธาตุลำปางหลวงปัจจุบัน และได้นำเอาพระแก้วมรกตดอนเต้าไปอยู่ ณ วัดพระธาตุลำปางหลวงตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา"


ส่วนสาเหตุที่พระแก้วดอนเต้าประดิษฐานที่วัดพระธาตุลำปางหลวงในเวลาต่อมานั้นก็ยังเป็นที่สงสัย สันนิษฐานน่าจะเป็นเพราะว่าวัดพระธาตุลำปางหลวงเป็นวัดที่สำคัญของเมืองลำปาง เป็นสิ่งสักการะของเจ้าเมืองหรือผู้ครองนครลำปาง หรืออาจจะมีเหตุผลอื่นใดนอกเหนือไปจากนี้ แต่สถานที่แห่งนี้น่าจะเป็นที่ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับองค์พระแก้ว


หวังว่าการไปเที่ยววัดพระแก้วดอนเต้าและวัดพระธาตุลำปางหลวง จ.ลำปางของสหมิตรครั้งต่อไปคงสนุกมากขึ้น และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการแบ่งปัน การถ่ายทอดข้อมูลดีๆมิให้จมอยู่แต่ในหนังสือจะเป็นประโยชน์แก่เพื่อนๆทุกคนที่ได้อ่าน....
ขอบคุณที่แวะเข้ามาอ่าน แค่นี้ก็ดีใจมากมาย!


ขอบคุณข้อมูลดีๆจากหนังสือ"แผ่นดินล้านนา" โดย
อาจารย์สุรพล ดำริห์กุล คณะวิจิตรศิลปื มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เวลา 23.50 น.
วันอังคารที่ 20 สิงหาคม พ.ศ.2556
ผมเอง...PattyFromTheBlock

เรื่องเล่าจากตำรา ตอนสาเหตุที่ทำให้เกิดพระพุทธศาสนามหายาน

หลักๆแล้วมีอยู่ด้วยกันห้าสาเหตุ แต่หยิบมาเพียงหนึ่งเพราะมันน่าสนใจดีนั้นคือ"เกิดจากแรงกดดันของศาสนาพราหมณ์"

เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้ทรงเผยแพร่พระศาสนาท่ามกลางศาสนาอื่นๆ แต่เนื่องจากพุทธธรรมที่ทรงแสดงเป็นที่สามารถเอาชนะจิตใจของประชาชนอันประกอบด้วยเหตุผล จึงเผยแพร่ได้อย่างรวดเร็วจนกระทั่งมีผู้นับถือจำนวนมาก ทำให้ศาสนาพราหมณ์ต้องอับเฉาลงและประสบกับความเสื่อมไม่อาจฟื้นตัวขึ้นมาได้ แต่ก็มีบางแห่งที่พระพุทธศาสนาไปไม่ถึง ผู้นำของศาสนาพราหมณ์รอจังหวะและหาโอกาสที่จะทำลายพระพุทธศาสนา กระทั่งถึงสมัย "พระเจ้าอโศกมหาราช" ซึ่งทรงทำนุบำรุงพระพุทธศานาเจริญรุ่งเรืองอย่างสูงสุด



หลังจากเปลี่ยนรัชกาล พระพุทธศาสนาก็เริ่มเสื่อมเนืองจากกษัตริย์ "ราชวงศ์สุงคะ" ทรงนับถือศาสนาพราหมณ์ พระพุทธศาสนาจึงถูกบ่อนทำลายทุกวิถีทาง อาทิ มีการทำร้ายคณะสงฆ์ ทำลายวัดและขับไล่คณะสงฆ์ให้ออกจากกุกกุฏาราม เป็นต้น ยิ่งกว่านั้นยังได้ให้รางวัลแก่ผู้ฆ่าพระด้วยคือให้เงิน ๑,๐๐๐ ทินนาคะต่อการตัดคอพระภิกษุหนึ่งรูป

ศาสนาพราหมณ์ก็เร่งพยายามปรับปรุงปฏิรูปเป็นการใหญ่ มีการแต่งมหากายพ์ขึ้นอีก 2 เรื่อง มีสำนวนเป็นที่ประทับใจสามารถดึงดูดใจผู้อ่านให้เกิดศรัทธาภักดีในพระผู้เป็นเจ้าของศาสนาพราหมณ์เป็นอันมากคือ "รามายณะของฤษีวาลมีกิ และ มหาภารตยุทธ" มีจุดเด่นอยู่ที่ภควัทตีตาของฤาษีกฤษณะปายวาส มหากาพย์นี้จึงทำให้รวมมวลชนพราหมณ์แพร่หลายในหมู่ปัญญาชน

นอกจากนี้ พวกพราหมณ์ยังเลียนแบบพระพุทธศาสนาในเรื่องไตรสรณคมน์คือ "พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์"เป็นที่พึงอันสูงสุด จึงสร้าง"ตรีมูรติ"ขึ้น กล่าวคือรวมพระเจ้าใหญ่ ๓ องค์เข้าด้วยกันคือ "พระพรหม พระศิวะ และพระนารายณ์"เป็นสิ่งสูงสุด และยังได้สร้างวัดแบบพระพุทธศาสนาอีกด้วย มีการจาริกแสวงบุญตามเทวาลัยสำคัญขึ้น การฟื้นฟูปรับปรุงศาสนาพราหมณ์ในครั้งนี้จึงบรรลุวัตถุประสงค์ ก็ทำให้การเผยแพร่ขยายอย่ารวดเร็ว ส่วนพระพุทธศาสนาก็ถูกอิทธิพลครอบคลุมไว้เกือบสิ้น

ข้อมูล : ประวัติพุทธศาสนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย
ภาพและคัดย่อ : ตบะเสือ ณ ลำน้ำกษัตริย์


เรื่องเล่าจากตำรา ตอนความเป็นมาเกี่ยวกับพระพุทธรูป

พระพุทธรูป หมายถึงปฏิมาหรือปฏิมากร คือเป็นรูปเหมือนหรือแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งพุทธศาสนิกชนได้สร้างขึ้นไว้ เพื่อเป็นที่เคารพสักการะบูชาของชาวพุทธทั่วหล้า

พระพุทธรูปสันนิษฐานว่า "สร้างขึ้นครั้งแรกในสมัยพระเจ้ามิลินท์ ณ แคว้นคันธารราฐซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของอินเดียโบราณ"    ปัจจุบันนักประวัติศาสตร์กล่าว่า "อยู่ในประเทศปากีสถานและอัฟกานิสถาน ระหว่างพ.ศ.367 - 383" จัดได้ว่าเป็นสกุลช่างช่วงแรกที่เริ่มสร้างรูปพระพุทธเจ้าเป็นมนุษย์ ก่อนหน้านี้นิยมสร้างแต่รูปสัญลักษณ์แทน สกุลช่างแคว้นคันธารราฐได้รั้บอิทธิพลวัฒนธรรมจากกรีก-โรมัน ด้วยเหตุนี้พระพุทธรูปนี้จึงมีลักษณะเหมือนประติมากรรมของกรีกโรมัน


หลังจากชาวพุทธทางอินเดีย"ตอนเหนือ" (คันธารราฐ) ได้สร้างพระพุทธรูปแล้ว เป็นเหตุให้ชาวพุทธทางอินเดีย"ตอนใต้"ซึ่งเดิมไม่คิดสร้างพระพุทธรูป กลับเกิดความนิยมชมชอบต้องการสร้างขึ้นมาบ้าง โดยให้ช่างของตนสสร้างพระพุทธรูปขึ้นตามแนวทางของช่างโยนก(กรีก) แต่ได้ดัดแปลงรูปลักษณะให้เป็นศิลปกรรมแห่งชาติตนอย่างกลมกลืน และการสร้างพระพุทธรูปก็วิวัฒนาการออกไปอย่างกว้างขวางแพร่หลายไปตามประเทศต่างๆ ที่นับถือพุทธศานาทั่วโลก

ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งถือเอาพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ก็ได้มีการสร้างพระพุทธรูปมาทุกยุคทุกสมัย กล่าวคือสมัยทวารวดี ศรีวิชัย ลพบุรี เชียงแสน สุโขทัย อู่ทอง อยุธยาและรัตนโกสินทร์ ตามลำดับ

ข้อมูล : ประวัติพุทธศาสนามหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย
ภาพและคัดย่อโดย : ตบะเสือ ณ ลำน้ำกษัตริย์

เรื่องเล่าจากสามก๊ก ตอนขงเบ้ง เมืองม่าน และหมั่นโถว

....ครั้นทัพหน้าของขงเบ้งยกมาถึงแม่น้ำลกซุย ขณะนั้นเป็นเดือนเก้าฤดูใบไม้ร่วงเกิดเมฆดำทะมึนมีลมพายุพัดจัด กองทัพไม่อาจข้ามน้ำไปได้ ทัพหน้าจึงกลับมารายงานต่อขงเบ้ง

ขงเบ้งถามเบ้งเฮ็กถึงสาเหตุ
เบ้งเฮ็กชี้แจงว่า "อันแม่น้ำสายนี้มีปีศาจคอยหลอกหลอนอยู่เสมอ ผู้ที่จะผ่านไปมาจักต้องทำการเซ่นไหว้ก่อนจึังหายไป"

ขงเบ้งว่า "ใช้อะไรเป็นเครื่องเซ่นไหว้เล่า"
เบ้งเฮ็กว่า "แต่เดิมมาเมื่อปีศาจสำแดงฤทธิ์หลอกหลอนต้องใช้ศรีษะคนสี่สิบก้าหัว หัววัวดำและแพะขาว เป็นเครืองเซ่น แล้วคลื่นลมก็จะสงบนิ่งไป การเซ่นไหว้เพื่อให้ข้าวกล้าสมบูรณ์ก็ทำอย่างนี้เหมือนกัน"

ขงเบ้งว่า "เราเพิ่งรบเสร็จใหม่ๆ จะให้ฆ่าคนอีกไฉน"

แล้วขงเบ้งไปสำรวจที่ริมฝั่งแม่น้ำลกซุย เห็นเมฆครึ้ม ลมพายุพัดจัด คลื่นโหมแรงนัก ผู้คนและม้าอกสั่นขวัญหายไปตามๆกัน ขงเบ้งประหลาดใจยิ่งนัก จึงลองถามชาวบ้านย่านนั้นดู

ชาวบ้านบอกว่า "นับแต่ท่านสมุหนายก ยกทัพข้ามแม่น้ำนี้ไปแล้ว ทุกคืนได้ิยินเสียงปีศาจร่ำไห้อยู่ริมฝั่งน้ำตลอดเวลา เริ่มแต่พลบค่ำจนถึงรุ่งเช้าทีเดียวแลปีศาจดำมะเมื่อมลอยอยู่ตามหมอกควันเป็นอันมาก จึงไม่มีใครกล้าข้ามแม่น้ำนี้ไปแม้แต่คนเดียว"




ขงเบ้งจึงว่า "นี้อาจะเป็นเพราะบาปกรรมที่เราทำไว้ เมื่อครั้งเราให้ม้าต้ายคุมทหารพันหนึ่งยกมานั้น ทหารทั้งปวงล้มตายอยู่ในแม่น้ำนี้หมดสิ้น ทหารชาวม่านก็พากันตายอยู่ในที่นี้เป็นอันมาก วัญญาณของพวกเขาจำสำแดงฤทธิ์เดชให้เห็น คืนนี้เราจะไปเซ่นไหว้ด้วยตนเอง"

ชาวบ้านว่า "ก็ต้องปฏิบัติตามประเพณีที่มีมาแต่เดิม คือต้องฆ่าคนเอาศรีษะสี่สิบเก้าหัวไปเป็นเครื่องเซ่น ปีศาจเหล่านั้นจึงจะหายไป"

ขงเบ้งว่า "ที่เกิดการณ์นี้ขึ้น ก็ด้วยวิญญาณของผู้ตายเป็นเหตุ ไฉนจะต้องฆ่าคนมีชีวิตเพิ่มเข้าอีกเล่า เราจะคิดอ่านทำเอง"

ว่าแล้ว ให้ทหารฆ่าวัวและแพะ ให้เอาแป้งมาปั้นเป็นรูปศรีษะคน เนื้อวัวเนื้อแพยัดไว้ข้างใน เรียกว่า"ม่านโถว" (แปลว่าหัวม่าน)


.....นี้แหละครับคือที่มาของซาลาเปาไม่มีไส้หรือ "หม่านโถวหรือหมั่นโถว" ที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน มีที่มาจากสามก๊กนั้นเอง...

ขยายความเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย "ม่าน"ในที่นี้หมายถึงคนม่านและเมืองม่าน เมืองทางใต้ของแคว้นจก (เล่าปี)ในสามก๊กที่ขงเบ้งยกทัพใหญ่มาปราบ

ตัวละครสำคัญคนหนึ่งของเมืองม่านชื่อ"เบ้งเฮ็ก" มีตำแหน่ีงเป็นอ๋อง ขงเบ้งจับมาได้แล้วก็ปล่อย ทำอย่างนี้อยู่ 7 ครั้งจึงยอมจำนนด้วยใจ


ภาพประกอบ :
http://www.travelprothai.com/board/topic?f=6&t=10086#.UcvV-DsdvE0

ข้อมูลจาก :
หนังสือสามก๊ก โดยวรรณไว พัธโนทัย

เล่าปี ความแค้นที่สุมอกและความตาย!

กรณีก.ไอซีทีไล่ปิดเว็บและดำเนินคดีกับบุคคลที่กล่่าวร้ายนายกรัฐมนตรีในกรณี"ปาฐกาถาขายชาติที่มองโกเลีย" ทำให้นึกถึงสามก๊กตอนที่"เล่าปี่โกรธฝุดฝุดที่สองพี่น้องร่วมสาบานคือกวนอูและเตียวหุยโดนฆ่า"



ภาพ : เล่าปี่ กวนอูและเตียวหุย สาบานเป็นพี่น้อง ณ สวนดอกท้ัอ

ต้องย้อนกลับไปเล่าเรื่องสามก๊กตอนนี้ให้ฟังสักเล็กน้อยจะได้รู้ที่มาที่ไปของเหตุการณ์นี้

....โจโฉ แห่งแคว้นวุย เสียชีวิตในวัย 66 ปี
ลูกชายคนโตคือ"โจผี"ครองอำนาจต่อและให้สมุนบังคับพระเจ้าเหี้ยนเต้สละราชบัลังค์ เพื่อตัวเองจะได้ขึ้นครองราชย์เป็นฮ่องเต้

....ในขณะเดียวกันเมื่อเหล่าขุนนางและขงเบ้งแห่งแคว้นง่อทราบข่าวเรื่องโจผีโค่นบัลลังค์พระเจ้าเหี้ยนเต้แล้ว ทุกคนพร้อมใจกันเสนอให้เล่าปี่ แห่งแคว้นจกรับตำแหน่งฮ่องเต้ ใช้เวลาเกลี่ยกล่อมอยู่นานกว่าเล่าปี่จะยอมรับตำแหน่งฮ่องเต้

ก่อนที่เล่าปีจะเป็นฮ่องเต้
..."กวนอู" เสียทีข้าศึกและถูกจับตัวไปให้ซุนกวน แห่งแคว้นง่อ สุดท้ายถูกซุนกวนสั่งประหารชีวิต จบชีวิตนักรบผู้ยิ่งใหญ่ในวัย 58 ปี

หลังเล่าปี่รับตำแหน่งฮ่องเต้
..."เตียวหุย" ถูกลูกน้องเก่าฆ่าตายและโดนตัดหัวไปมอบให้"ซุนกวน"

"เล่าปี กวนอูและเตียวหุย สามพี่น้อง คนละท้องทั้งพ่อและแม่ แต่สาบานเป็นพี่น้องกันที่สวนดอกท้อว่าจะร่วมเป็นร่วมตาย นี้คือชนวนสำคัญทีทำให้เล่าปี่ขาดสติ เพราะโดนความโกรธ เกลียดและความแค้นเข้าครอบงำ"

สองเหตุการณ์นี้ทำให้"เล่าปี่"แค้นซุนกวนจนอยากจะไปกระทืบและฆ่าตัดคอ เอาเลือดมาล้างเท้าให้หายแค้น ตั้งใจจะยกทัพไปฆ่าซุนกวนให้หายแค้น แต่เหล่าขุนนาง รวมทั้งจูล่งและขงเบ้งก็ทัดทาน เพราะเป้าหมายใหญ่เพื่อส่วนรวมคือ"โจผี" ที่บังอาจล้มราชบัลลังค์พระเจ้าเหี้ยนเต้ มิใช่ยกทัพไปเข่นฆ่าซุนกวนซึงเป็นเรื่องส่วนตัว

....แต่ไม่สำเร็จ....

สุดท้ายเล่าปีอยู่ทัพหลวง ยกพลบุกตะลุยไปกระืืทืบและหมายฆ่าซุนกวนล้างแค้นให้หายโกรธ...

ฝ่ายซุนกวนทราบข่าวการยกทัพของเล่าปี่จากเหล่าเสือหมอบแมวเซา มีคำสั่งแต่งตัว "ลกซุน" แม่ทัพวัยละอ่อน ยกทัพเข้าต่อสู้

เพราะความดื้อดึง ไม่ฟังเสียดทัดทานจากเหล่าขุนพลผู้เจนสงคราม ประมาท และทะนงในตัวเองมากเกินไป สุดท้ายกองทัพของพระเจ้าเล่าปีก็เสียท่าและเสียทีแก่แม่ทัพวัยละอ่อนแห่งแควันง่อ "ลกซุน"

ตัวของพระเจ้าเล่าปี่เอง ก็หนีหัวซุกหัวซุนเกือบเอาชีวิตไม่รอด ถ้าไม่ได้จูล่งและขงเบ้งเข้ามาช่วย งานนี้บอกได้คำเดียวว่า"ยับเยินสุดๆ"


หลังจากศึกที่พ่ายแพ้อย่างยับเยินครั้งนี้ พระเจ้าเล่าปีก็ไม่สบาย อาการทรุดหนักลงเรื่อยๆ และสิ้นพระชนม์ ในวัย 63 พรรษา

.................................................


เหตุการณ์นี้แหละที่ผมนำมาเปรียบเทียบกับกระทรวงไอซีที รัฐมนตรีทุกท่านและคณะรัฐบาลชุดปัจจุบัน ถ้าพวกท่านลุแก่อำนาจ หลงระเริง ใช้อำนาจไปในทางมิชอบ ทำอะไรเพื่อประโยชน์ส่วนตน ละเลยสิ่งที่เป็นประโยชน์ของส่วนรวมหรือของประเทศชาติ สักวันสิ่งเหล่านี้จะย้อนกลับมาทำร้ายพวกท่านเอง แต่ประเทศชาติและประชาชนเป็นผู้ได้รับความเสียหาย

เวลา 12.30 น.
วันพุธที 12 มิถุนายน พ.ศ.2556
เล่าเรื่องโดย ตบะเสือ ณ ลำน้ำกษัตริย์

ปลาพญานาค มิใช่้พญานาค


"ภาพนี้เห็นกันบ่อย....พญานาคในแม่น้ำโขง?"


ความจริงแล้วเจ้าปลาตัวนี้มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Oarfish หรือ ปลาพญานาค อีกทั้งมีชื่อเรียกหลายชื่อ อาทิ king of the herring, Pacific oarfish, streamer fish และ ribbon-fish

ค้นพบครั้งแรกในปีค.ศ.1772 โดยนักชีววิทยาชาวนอรเวย์ Peter Ascanius

ปลาชนิดนี้สามารถที่จะโตและมีลำตัวยาวถึง 50 ฟุต หรือ ประมาณ 15.24 เมตร และมีน้ำหนักมากถึง 272 กก.


เป็นปลาที่อาศัยอยู่ในทะเลหรือมหาสมุทร ระดับความลึกของน้ำที่เจ้าปลาพญานาคอาศัยคือ 656 ฟุต (0.2 กิโลเมตร) และ 3,280 ฟุต (1 กิโลเมตร) เพราะฉะนั้นแล้วเป็นการยากมากที่เราจะเห็นได้ด้วยตา หรือ ใครที่คิดจะจับก็ยากเช่นกัน

ที่น่าสนใจคือเจ้าปลาชนิดนี้ตาบอดเพราะมันอยู่ในระดับที่ลึกมาก แสงส่องลงไปไม่ถึง 



จนท.Navy SEALS ของสหรัฐถ่ายรูปร่วมกับปลาพญานาค หรือ Oarfish ความยาวประมาณ 7 เมตร ในปี1996 บริเวณชายหาดแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา


ภาพและข้อมูลโดย

วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ.2556
เรียบเรียงและเล่าเรื่องโดย : PattyFromTheBlock